สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ เดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 11, 2010 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ตลท. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยบวกด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย และจากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนี SET ปรับสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดปรับสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และการเข้าจดทะเบียนของบริษัทขนาดใหญ่ มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ได้ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลตรุษจีนในช่วงกลางเดือนและการที่นักลงทุนบางส่วนอาจชะลอการซื้อขายเพื่อรอความชัดเจนของพัฒนาการด้านการเมืองในช่วงปลายเดือน ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นักลงทุนต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทในการซื้อขายมากขึ้นและกลับมามีสถานะซื้อสุทธิจากที่มีสถานะขายสุทธิในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า การซื้อขายในตลาดอนุพันธ์มีปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 เนื่องจากปริมาณการซื้อขายของ Gold Futures ที่เพิ่มขึ้นตามภาวะราคาทองคำในตลาดโลกที่ผันผวน การระดมทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 จากการเข้าจดทะเบียนของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่สูง โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 53,312 ล้านบาท คิดเป็นอันดับที่ 24 ของหลักทรัพย์ทั้งหมด ขณะที่การระดมทุนในตลาดรองยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนเพื่อใช้รองรับการขยายธุรกิจและเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท 1. ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) และดัชนีหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียปรับสูงขึ้นจากปัจจัยบวกด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศกรีซ แต่นักลงทุนต่างประเทศยังให้ความสนใจต่อการลงทุนในหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) มากขึ้น ขณะที่ SET Index ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีปัจจัยบวกในประเทศสนับสนุน เช่น รายงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยงวดไตรมาส 4/2552 ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.8 [1] จากไตรมาส 4/2551 เทียบกับการหดตัวต่อเนื่องในช่วง 4 ไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงการที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยส่วนหนึ่งได้ประกาศจ่ายเงินปันผลและรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2552 และงวดปี 2552 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า โดย SET Index ปรับสูงขึ้นและปิดที่ระดับ 721.37 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 จาก ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ขณะที่ดัชนี mai ปิดที่ 212.16 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.00 จาก ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวมของ SET และ mai ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่ 5,542,281.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.14 จาก ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 สำหรับอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ ณ เวลาปัจจุบันและกำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E Ratio) ของไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่ 10.9 เท่า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.5 เท่า ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 7.7 เท่า ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของ SET Index เป็นสำคัญ 2. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันค่อนข้างต่ำเนื่องจากวันหยุดเทศกาลตรุษจีนในช่วงกลางเดือนและนักลงทุนบางส่วนอาจชะลอการซื้อขายเพื่อรอความชัดเจนของพัฒนาการด้านการเมืองในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายปรับสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส่วนหนึ่งจากการที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ 9 โครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งเป็นโครงการของบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ใน SET และ mai มีมูลค่ารวม 284,906.15 ล้านบาท มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 14,245.31 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.13 จากเดือนมกราคม 2553 อย่างไรก็ตาม มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 91.42 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของ SET และ mai แยกตามประเภทนักลงทุน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบว่า นักลงทุนต่างประเทศมีบทบาทในการซื้อขายมากขึ้น โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.95 ในเดือนมกราคม 2553 เป็นร้อยละ 23.62 และเปลี่ยนสถานะจากการขายสุทธิต่อเนื่อง 3 เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นผู้ซื้อสุทธิด้วยมูลค่า 5,410.87 ล้านบาท ขณะที่นักลงุทนรายบุคคลทั่วไปมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิ 10,858.47 ล้านบาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และมีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 53.28 นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นักลงทุนสถาบันในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิด้วยมูลค่า 5,844.84 ล้านบาท และบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิด้วยมูลค่า 397.24 ล้านบาท สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่มพลังงานและธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 32.91 และร้อยละ 23.70 ตามลำดับ ซึ่งค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2553 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 4.51 ในเดือนมกราคม 2553 เป็นร้อยละ 7.60 จากการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนใหม่ (บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)) เป็นสำคัญ สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) พบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 43.26 จากร้อยละ 38.15 ในเดือนมกราคม 2553 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดอันดับ 11-30 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 25.82 หลังจากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนก่อนหน้า 3. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนของเดือนมกราคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า และมี สัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือน (Active Rate) ในเดือนมกราคม 2553 คิดเป็นร้อยละ 23.11 จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนมกราคม 2553 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น หลังจากลดจำนวนลงในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ทั้งนี้สัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือน อยู่ที่ร้อยละ 23.11 และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 2.92 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนธันวาคม 2552 ที่มีสัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือน อยู่ที่ร้อยละ 21.50 และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 2.59 ล้านบาท สำหรับจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตและมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยในเดือนมกราคม 2553 มีจำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 49,288 บัญชี เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.18 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 ทั้งนี้สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในเดือนมกราคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 21.32 เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 19.79 ในเดือนธันวาคม 2552 4. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ร้อยละ 7.79 ปัจจัยสำคัญมาจากปริมาณการซื้อขายของโกลด์ฟิวเจอร์ส (Gold Futures) ที่เพิ่มขึ้นตามความผันผวนของราคาทองคำในตลาดโลก โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีปริมาณการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์รวม 280,128 สัญญา ขณะที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 14,009 สัญญา เพิ่มขึ้นจากจำนวน 12,997 สัญญา ในเดือนมกราคม 2553 นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 Gold Futures ทำสถิติปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุดใหม่ที่ 3,956 สัญญา เทียบกับปริมาณสูงสุดเดิมในเดือนธันวาคม 2552 ที่ระดับ 3,861 สัญญา ทั้งนี้ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 มีการซื้อขาย Gold Futures สูงสุดถึง 8,496 สัญญา เนื่องจากราคาทองคำที่ใช้อ้างอิงตามสัญญาในวันดังกล่าวมีการปรับลดลงถึง 50 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยเอานซ์ (Troy Ounce) 5. ภาพรวมด้านการระดมทุน[2] การระดมทุนในรูปตราสารทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าราว 4 เท่า จากการเข้าจดทะเบียนใหม่ของ บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) ขณะที่การระดมทุนในตลาดรองยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่าการระดมทุนรวมทั้งหมด 5,491 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนในตลาดแรก 4,692 ล้านบาท จากการเข้าจดทะเบียนของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) และมีมูลค่าการระดมทุนในตลาดรองมูลค่า 799 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและรองรับการรับงานใหม่ของ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (PLE) มูลค่า 266 ล้านบาท และระดมเงินทุนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและชำระเงินกู้ยืมของ บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) (TFI) มูลค่า 300 ล้านบาท เป็นสำคัญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229-2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229-2048 / ณัฐยา เมืองแมน โทร. 0-2229-2043

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ