กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--สสวท.
พื้นที่บนดอยสูง ห่างไกลความเจริญ บางแห่งไฟฟ้าก็ยังไปไม่ถึง แต่การศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กไทย ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด ก็ต้องตามไปด้วย แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและความรู้จากเรื่องใกล้ตัว เป็นที่พึ่งหลัก มากกว่าอาศัยสื่อ อุปกรณ์เทคโนโลยีสวยงาม ไฮเทค
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ สวทช. สพฐ.กศน. ได้จัดอบรมครูจากโรงเรียนในโครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในสถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 สพท.แม่ฮ่องสอน เขต 2 จุดที่ 2 โรงเรียนชุมชนบ้านแม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานเป็นปีที่ 3 แล้วของโครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในสถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตั้งและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการใช้งานและการดูแลรักษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา จำนวน 36 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ. เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก โดยพยายามผลักดันให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อให้ครู เด็กๆในหมู่บ้านหรือแม้แต่คนในชุมชนรู้จักการใช้งานและการดูแลรักษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และจะมีส่วนทำให้การจัดการเรียนรู้สาระการออกแบบและเทคโนโลยี ในหลักสูตรที่โครงการเทคโนโลยี สสวท.รับผิดชอบอยู่ มีโอกาสเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและยังมีส่วนช่วยเหลือผู้เรียนที่ด้อยโอกาสอีกทางหนึ่งด้วย
กิจกรรมในการฝึกอบรม ได้แก่ กิจกรรมระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การวิเคราะห์ปัญหาและการบำรุงรักษา การบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การประเมินผลโครงการ การนำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ทบทวนกระบวนการเทคโนโลยี ทบทวนพลังงานเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ในชั้นเรียน การเปลี่ยนแปลงพลังงาน การเก็บและการใช้พลังงาน โครงงานเทคโนโลยี สรุปการอบรม และชี้แจงแผนการดำเนินงานที่วางแผนไว้
ตามไปดู ครูดอยเขาร่วมฝึกปฏิบัติการทดลอง และสร้างสื่อการสอนแล้ว ก็ทึ่ง ! ในความตั้งใจจริงของคุณครูแต่ละท่าน เห็นแล้ว ก็น่าปลาบปลื้มแทนเด็ก ๆ นักเรียน และชุมชนจริง ๆ
คุณครูกำจัด บรุณพันธ์ ครูนิเทศก์ กลุ่มแม่ฮอง เข้ามาอบรมในนาม ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ละเอาะ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาครูในกลุ่ม ทั้ง 8 กลุ่มสาระ กล่าวถึงความรู้สึกว่า การอบรมในครั้งนี้ มีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของครูผู้สอนเป็นอย่างมาก เพราะการประสบปัญหาในชุมชน สามารถใช้วิชาความรู้ที่อบรมไปช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ชุมชนผู้ด้อยโอกาส มีความต้องการในการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอย่างมาก และใช้เป็นองค์ความรู้ในกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างดี
คุณครูจุฬา ธรรมกิตติวงศ์ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านป่าพลู จังหวัดตาก ชอบกิจกรรมฝึกการต่อวงจรไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะสามารถนำความรู้ไปใช้ในพื้นที่ได้โดยตรง การจัดการเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงเรียนนั้น ได้ให้นักเรียนร่วมกิจกรรมทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ การตรวจเช็คและเติมน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับที่กำหนด
“กลับไปจะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียนและชุมชน โดยเฉพาะวิธีการบำรุงรักษาและการใช้ฟ้าในฤดูต่าง ๆ ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน ประกาศข่าวให้กับชุมชน จัดรายการวิทยุต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกไม้ผลและการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ”
คุณครูบุปผา ก่อสันติรักษ์ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านวาแหมะคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก บอกว่า ชอบกิจกรรมการทำโครงงานเทคโนโลยีและระบบการปฏิบัติงาน เพราะได้ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับเด็กบนดอยได้หลากหลาย ทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจมากขึ้น หลังจากเข้ารับการอบรมแล้วจะกลับไปสร้างสื่อการจัดการเรียนการสอนเรื่องโซลาร์เซลล์ จัดกิจกรรมดูแลแผงโซลาร์เซลล์ ทำความสะอาดแผงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เติมน้ำกลั่นทุกๆเดือน และเขียนแผนการสอนเรื่องโซลาร์เซลล์
คุณครูธีระ สมมิตร ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ทีผะแหล่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า เนื่องจากชุมชนอยู่ห่างไกลความเจริญ การคมนาคมลำบาก มีความยากจน ศศช. จึงเป็นศูนย์รวมทั้งเรื่องความรู้ และความบันเทิง ที่ชุมชนได้ใช้สื่อรับสัญญานดาวเทียม วิทยุ โทรทัศน์ ร่วมกัน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งผู้เรียนและชาวบ้าน มีพัฒนาการด้านความคิด สังคม การใช้ภาษาไทยดีขึ้นจากเดิมมาก “การดำเนินงานจากนี้ไปจะนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ครูผู้สอนในชุมชน จากนั้นจะประชุมวางแผนงานกัน ในการประยุกต์จัดกิจกรรมในพื้นที่ จากนั้นจะนำแผนที่ได้ไปใช้ แล้วประเมินผล นำมาปรับแก้ไข แล้วนำไปใช้ใหม่”
คุณครูธีระพล พูนผล ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ยะลิกุย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า จะนำความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาการใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ไปสอนเด็กและชุมชน
แสงอาทิตย์เป็นสิ่งจำเป็นในชุมชน เพราะหมายถึงการมีไฟฟ้าใช้ในการดำรงชีวิต การที่คุณครูได้เข้ารับการอบรมและนำไปถ่ายทอดให้นักเรียนและคนในชุมชน จึงนับว่าเป็นการเรียนรู้ คู่กับ การใช้ชีวิตโดยแท้ นอกจากนั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ไฟ” ในการปฏิบัติงานขอคุณครูผู้อุทิศ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการสอนเหล่านี้ จึงขอเป็นกำลังใจให้พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ของชาติเหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย