29 มี.ค. — 2 เม.ย. นี้ เจ้าหน้าที่กทม. ลงพื้นที่เสี่ยงทั่วกรุงชวนป้องกันไข้เลือดออกระบาด

ข่าวทั่วไป Thursday March 11, 2010 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. ติวเข้มเจ้าหน้าที่เตรียมลงพื้นที่เสี่ยงรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 29 มี.ค. — 2 เม.ย. 53 เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย และตัวเต็มวัย ลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน พร้อมขอความร่วมมือป้องกันจริงจัง และยึดหลัก 5 ป. จนเป็นนิสัย พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรม“สัปดาห์ฆ่ายุงลาย” พร้อมมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการกำจัดยุงลายอย่างเข้มข้น โดยมีผู้แทน 6 กลุ่มเขต ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครประจำเขตต่างๆ ผู้แทนศูนย์บริการสาธารณสุข พยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) กรุงเทพมหานครกำหนดจัดสัปดาห์ฆ่ายุงลาย ระหว่างวันที่ 29 มี.ค. — 2 เม.ย. 53 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมแรงร่วมใจป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยสำนักอนามัยจะจัดทีมงานพยาบาลของศูนย์บริการสาธารณสุขออกหน่วยร่วมกับสำนักงานเขตต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายในบ้านและนอกบ้าน อาทิ แจกันดอกไม้ ยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้แล้ว จานรองกระถางต้นไม้ รวมถึงกำจัดยุงลายตัวแก่ภายในบ้านโดยใช้สารเคมีปลอดภัย ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด หากคนในครอบครัวป่วยเป็นไข้นานกว่า 1 วัน ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายด้วยเครื่องพ่นสารเคมี และทรายที่มีฟอสฟอรัสกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มข้น และแจกทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายให้กับประชาชนที่มารับบริการที่สำนักงานเขต ควบคู่กับการส่งเจ้าหน้าที่ออกกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกวันศุกร์สัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน หากประชาชนมีอาการหรือพบผู้ป่วยอยู่ในข่ายต้องสงสัยเป็นโรคไข้เลือดออกให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งสำนักงานเขตในพื้นที่ หรือโทร. 1555 ซึ่งกรุงเทพมหานครจะจัดส่งทีมเคลื่อนที่เร็วของสำนักอนามัยเข้าตรวจพื้นที่ กำจัดแหล่งพาหะของโรคและระงับการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว สถิติระบาดวิทยาของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. — 6 มี.ค. 53 พบว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 1,182 ราย สูงกว่าทุกปีที่ผ่านในช่วงเวลาเดียวกัน โดยกลุ่มอายุที่มีอัตราการป่วยมากที่สุด ได้แก่ อายุ 15 — 24 ปี คิดเป็นร้อยละ 25.97 แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งภาวะโลกร้อนส่งผลให้รอบการระบาดของโรคไข้เลือดออกเกิดเร็วขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยุงลายมีการกลายพันธุ์ และขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ขอความร่วมมือชุมชน โรงเรียน ศาสนสถาน และหน่วยงานต่างๆ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยยึดแนวปฏิบัติ 5 ป. ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ และปฏิบัติ จนเป็นนิสัย ด้วยการปิดฝาภาชนะ เช่น โอ่งน้ำให้เรียบร้อย เปลี่ยนน้ำในภาชนะกันไม่ให้ยุงลายไปวางไข่ ปล่อยปลาหางนกยูงลงในแหล่งน้ำเพื่อให้กินลูกน้ำยุงลาย ปรับปรับสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และปฏิบัติโดยกำจัดยุงลายเป็นประจำทุกๆ 7 วัน เพื่อเป็นการตัดวงจรไข้เลือดออกตั้งแต่ต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ