กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--สวทช.
โครงการ iTAP (สวทช.) หนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน “ หสม.ข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์2 ” จ.ลำปาง พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพการอบแห้งข้าวแต๋น ด้วย ว & ท ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมออกแบบและพัฒนา “โรงเรือนอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์” ลดการสูญเสีย ลดเวลาตาก ลดการปนเปื้อน ยืดอายุผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นตั้งเป้าการผลิต 4 ตันต่อวัน รองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเปิดตัวเป็น “สถานีวิจัยและถ่ายทอดการผลิตข้าวแต๋นของประเทศไทย” เพื่อสร้างงาน สร้างเงินสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป เช่น ‘หมู่บ้านทุ่งม่านเหนือ’ ต้นแบบชุมชนเข้มแข็งสร้างรายได้ด้วย “ข้าวแต๋น”
ข้าวแต๋น ขนมพื้นบ้านที่อดีตนิยมทานกันในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะทางภาคเหนือที่นำเอาข้าวเหนียววัตถุดิบหลักในพื้นที่มาผลิตและแปรรูป ซึ่งเป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง แต่ปัจจุบันมิใช่เพียงขนมพื้นบ้านอีกต่อไป
เมื่อผู้ผลิตข้าวแต๋นน้ำแตงโมภายใต้แบรนด์ “แม่บัวจันทร์” ได้ปรับโฉมหน้าผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นให้มีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบและรสชาติกลายเป็น “ข้าวแต๋นวาไรตี้” อาทิ หน้า โดนัท , ธัญพืชรวม , สาหร่ายสไปซี่ , หมูหยอง ฯลฯ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคทุกระดับตั้งแต่ตลาดระดับล่าง จนถึงระดับบน หรือ ไฮเอนท์ สามารถครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศได้ถึงร้อยละ80 กระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังรับผลิตตามออร์เดอร์ ปัจจุบันมีออร์เดอร์ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่องกว่า 27 ประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ
นายสุธาณี เยาวพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนสามัญข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์ 2 เปิดเผยว่า ข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์ เป็นการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งม่านเหนือ ต.บ้านเป้า อ.เมือง จ.ลำปาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในขั้นตอนการตากแผ่นข้าวแต๋นดิบต้องอาศัยแสงแดดจากธรรมชาติจึงขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ หากฝนตกหรือวันใดที่ไม่มีแดดจะต้องใช้เวลาในการตากนานขึ้น ส่งผลต่อกระบวนการผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะการส่งมอบสินค้าสำหรับออร์เดอร์ต่างประเทศ ขณะที่ยอดความต้องการในประเทศเองมีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว
จึงเป็นที่มาของ “ โครงการการปรับปรุงประสิทธิภาพการอบแห้งข้าวแต๋นด้วยโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ” ภายใต้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ในสังกัดศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย iTAP ได้เชิญ รศ. ดร. เสริม จันทร์ฉาย อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มาช่วยพัฒนาโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบกรีนเฮาส์สำหรับการอบแห้งแผ่นข้าวแต๋นดิบจนประสบความสำเร็จ
จากการทดสอบใช้งานจริง พบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถลดเวลาการตากแผ่นข้าวแต๋นดิบจากเดิม 2-3 วัน เหลือเพียง 8 ชม.ต่อวัน จากความชื้นเริ่มต้นของแผ่นข้าวแต๋นดิบประมาณ 55% จนเหลือความชื้นสุดท้ายประมาณ 9-10% โดยพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกเปลี่ยนเป็นความร้อนโดยอาศัยปรากฏการณ์เรือนกระจกซึ่งจะทำให้อุณหภูมิภายในโรงอบแห้งสูงกว่าอุณหภูมิอากาศแวดล้อม ช่วยให้ความชื้นจากผลิตภัณฑ์ระเหยได้เร็วยิ่งขึ้น ความชื้นที่ระเหยออกมาจะถูกพัดลมดูดอากาศซึ่งใช้ไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ดูดออกไปภายนอก ทำให้ผลิตภัณฑ์แห้งเร็วกว่าการตากแดดตามธรรมชาติ นอกจากนี้การอบแห้งแผ่นข้าวแต๋นดิบในโรงอบแห้งนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาการรบกวนของแมลง และความเสียหายจากการเปียกฝน ในเบื้องต้นโรงอบแห้งนี้สามารถอบแห้งแผ่นข้าวแต๋นดิบครั้งละประมาณ 1,000 กิโลกรัม โดยต่อไปจะทำการเพิ่มชั้นวางผลิตภัณฑ์ให้สามารถตากแห้งผลิตภัณฑ์ได้ 2,000 - 4,000กิโลกรัมต่อวัน
นายสุธาณี กล่าวอีกว่า “ นอกจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้นเป็นแห่งแรกของไทยที่สามารถเก็บได้ถึง 8 เดือนหลังการทอด ส่วนแผ่นข้าวแต๋นดิบเก็บได้นาน 6 - 8 เดือน (โดยไม่ใส่ตัวดูดซับความชื้น) จากเดิมที่เก็บได้เพียง 3 เดือน อนาคตจะยังคงพัฒนาต่อให้เก็บนานขึ้นถึง 18 เดือน เพื่อส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ ”
นอกจากรสชาติที่หลากหลายแล้ว ยังมีการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ มากขึ้น เช่นรูปหัวใจและหมีแพนด้า การพัฒนาแพคเก็จจิ้งซึ่งที่ผ่านมามีการออกแบบถึง 5 แบบด้วยกัน โดยดีไซน์ตามความเหมาะสมของตลาดและมีบรรยายถึง 4 ภาษาทั้งไทย จีน อังกฤษ และญี่ปุ่น ล่าสุดได้เพิ่มภาษาเกาหลีอีก 1 ภาษา หลังสินค้าได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดเกาหลี
ทั้งนี้ในฐานะผู้นำข้าวแต๋นวาไรตี้ ที่ใส่ใจทั้งเรื่องรสชาติ คุณภาพ บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่ดี ผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์จึงมีความโดดเด่นกว่ารายอื่นๆ ทำให้ผลประกอบการโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 30 % จากรายได้ 300,000 บาทเมื่อปี 2538 ปัจจุบันมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท
นายสุธาณี กล่าวว่า “ ข้าวแต๋นเป็นขนมไทยที่มีความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตทางการเกษตรหลากหลาย ช่วยต่อยอดผลผลิตทางการเกษตร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมได้กว่าร้อยล้านบาท จึงอาจเรียกได้ว่า “ ขนมไทยร้อยล้าน” เฉพาะการผลิตข้าวแต๋นของแม่บัวจันทร์มีการนำวัตถุดิบทางการเกษตรอื่นๆมาใช้ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 42 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่รวมผู้ผลิตข้าวแต๋นรายอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่มีอยู่กว่า 480 ราย ดังนั้น เมื่อข้าวแต๋นเป็นที่รู้จักมากขึ้น ความต้องการมากขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนทั่วไปจึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจของชาติดีขึ้นได้จากผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ”
ตัวอย่าง ชุมชนใน ‘หมู่บ้านทุ่งม่านเหนือ’ นอกจากทำการเกษตรแล้วอาชีพรองคือ การทำข้าวแต๋นน้ำแตงโม สร้างรายได้เฉลี่ย 300 — 450 บาทต่อคนต่อวัน( ระยะเวลาในการทำข้าวแต๋นเพียงเดือนละ 20 วัน) นับเป็นกลุ่มอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่หมู่บ้าน 72,000 - 80,000 บาทต่อคนต่อปี และยังได้เป็นหมู่บ้านชุมชนดีเด่นสู้ภัยเศรษฐกิจระดับจังหวัดในปี 2546 ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มผลิตข้าวแต๋นทั้งสิ้น 18 กลุ่ม รวม 1,000 ครอบครัว จาก 13 หมู่บ้าน
“ ธุรกิจเล็กๆ อย่างข้าวแต๋นสามารถอยู่รอดและเติบโตสวนกระแสวิกฤตเศรษฐกิจได้ เพราะรู้จักปรับตัวและใช้วิกฤตเป็นโอกาสตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แม้ไทยจะเป็นประเทศเกษตรกรรมกึ่งอุตสาหกรรม แต่วันนี้ !!! ต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการผลิต และการขาดแคลนอาหารโลก โดยเฉพาะ “ข้าว” ดังนั้น การแปรรูปจึงเป็นวิธีการถนอมอาหารและเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกทางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาข้าวและสินค้าทางการเกษตรของกลุ่มข้าวแต๋นฯ ” นายสุธาณี กล่าว
ด้าน รศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย กล่าวว่า จากปัญหาที่พบคือการตากแดดบนลานกว้าง ต้องคอยเก็บเข้า-ออกเมื่อฝนตกหากพลาดจะทำให้ของเกิดความเสียหายทั้งหมด ยิ่งสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนในปัจจุบันย่อมเป็นปัญหาอย่างมากต่อการผลิตข้าวแต๋น แม้เดิมทีทางผู้ประกอบการจะมีเครื่องอบแห้งขนาดเล็กแต่รองรับปริมาณการผลิตมากๆไม่ได้ ขณะที่โรงเรือนอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นนี้ มีขนาดกว้าง 8 ยาว 20 สูง
3. 5 เมตร สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
“ ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ กล่าวคือ เมื่อแสงอาทิตย์มีความเข้มสูง เช่น ตอนเที่ยงวันของวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส โรงอบแห้งจะได้รับพลังงานแสงอาทิตย์มาก อุณหภูมิของอากาศภายโรงอบจึงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันแผงโซลาร์เซลล์ก็จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นด้วย ทำให้พัดลมดูดอากาศ ซึ่งได้รับพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์จะดูดอากาศให้ไหลเวียนมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิภายในโรงอบไม่สูงเกินไป ในทางกลับกันในช่วงสายหรือช่วงเย็น เมื่อแสงอาทิตย์มีความเข้มน้อยลง อากาศภายในก็จะถูกดูดออกไปภายนอกน้อยลงด้วย ทำให้อุณหภูมิไม่ลดลงต่ำมากนัก
การทำงานดังกล่าวจึงไม่ต้องมีระบบอิเล็กทรอนิคส์ควบคุม และไม่มีสวิทซ์ปิดเปิด ผู้ใช้เพียงแต่นำผลิตภัณฑ์เข้าไปตาก และเมื่อแห้งก็เก็บออกมา ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน การออกแบบให้มีรูปทรงหลังคาโค้งแบบพาราโบลาช่วยให้สะดวกต่อการสร้าง ประหยัดวัสดุ และมีความต้านทานแรงลมน้อย นอกจากนี้ยังมีความสวยงามด้วย ถึงแม้ว่าโรงอบแห้งนี้จะมีค่าวัสดุและแรงงานในการก่อสร้างประมาณ 300,000 บาท แต่ถ้านำมาใช้งานเชิงอุตสาหกรรมในลักษณะนี้ก็จะสามารถคุ้มทุนได้ภายในเวลา 2-3 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับอายุใช้งานซึ่งยาวนานกว่า 10 ปี ถือเป็นการคุ้มค่าต่อการลงทุน”
เนื่องจากปัจจุบันกระแสการใช้พลังงานสะอาด หรือ เทคโนโลยีสะอาดเพื่อผลิตสินค้านั้น ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญและยินดีจ่ายในราคาที่แพงขึ้นสำหรับสินค้าหรือบริการที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีแสงแดดเจิดจ้าทั้งปีเหมาะสำหรับการใช้เทคโนโลยีการอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออก แทนที่จะส่งออกเป็นวัตถุดิบอย่างเดียว ดังนั้นหากต้องการทำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีช่องทางไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น การตากแดดด้วยวิธีธรรมชาตินั้นใช้ไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย....
“ ในฐานะนักวิชาการ เราควรมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะกับการใช้งานในประเทศไทย เพื่อพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรในลักษณะของผลิตภัณฑ์แปรรูปสำหรับจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากข้าวแต๋นแล้วยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกที่ควรดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เช่น กล้วยตาก เครื่องต้มยำ หรือ ผลไม้แห้ง เป็นต้น ” รศ.ดร.เสริม กล่าว
กรรมการ หสม.ข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์ 2 ยอมรับว่า “ iTAP เป็นโครงการที่ดี สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ชัดเจน เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นถูกกว่าการนำเข้า และมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จริง เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทำให้ขยายตลาดได้ใหญ่ขึ้น นอกจากเป็นหน่วยงานที่เชื่อมองค์ความรู้ คือ นำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาหาผู้ประกอบการแล้ว iTAP ยังช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้อีกร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการ พร้อมตอกย้ำการทำงานของ iTAP ทำได้ถูกต้อง ถูกทาง และถูกใจผู้ประกอบการเพราะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ”
“ การนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนาคุณภาพ ช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้นานขึ้น และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น โรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์ที่พัฒนาขึ้น ช่วยลดเวลาในการตากแดด และลดการปนเปื้อน เป็นการรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น ”
สำหรับเป้าหมายในอนาคต หสม.ข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์ 2 ต้องการเป็นสถานีวิจัยและถ่ายทอดการผลิต ข้าวแต๋นแห่งแรกของไทยให้กับวิสากิจชุมชนอื่นๆ และผู้สนใจทั่วไป ปัจจุบันมีผู้สนใจจากทั่วประเทศเดินทางเข้ามาดูงานปีละหลายพันคน และมีการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด สร้างอาชีพและรายได้แล้วจำนวนมาก ถือเป็นการสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างความเข้มแข็งสู่ชุมชนอื่นๆ ในประเทศ
ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์ ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุธาณี เยาวพัฒน์ หสม.ข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์ 2 โทร.02-882-4103 มือถือ 081-558-4983 , 089-209-3659 หรือที่เว็บไซต์ www.khaotanricecracker.blogspot.com อีเมล์ : khaotanth@hotmail.com
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอรับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีจากโครงการ iTAP ติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร.02-564-7000 ต่อโครงการiTAP ,(เครือข่าย สวทช.ภาคเหนือ) โทร. 053-226-264 หรือเว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP
โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 114,115