กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สวทช.
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย สนับสนุนผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไทยผ่าน 2 โครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง” และ “โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียว” เน้นแนวคิดการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้แปรเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสวยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ พร้อมส่งเสริมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ใช้เป็นจุดขายเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ตลาดต่างประเทศ มุ่งใช้การออกแบบและการตลาดเป็นจุดแข็งคู่ขนานการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการแข่งขันในตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่ยั่งยืนต่อไป
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยเป็นอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่แต่เดิมได้เน้นในเรื่องของการผลิตหรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณของเสีย ซึ่งในปัจจุบันการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการผลิตอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการรักษากลุ่มตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่ยั่งยืนได้ การให้ความสำคัญกับการทำการตลาด และการใส่ใจกับตัวผลิตภัณฑ์ด้วยการออกแบบจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้อย่างแท้จริง หนทางหนึ่งซึ่ง iTAP ได้ให้การสนับสนุนแก่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย ได้แก่ การออกแบบหรือการกำจัดของเหลือทิ้งด้วยการออกแบบ ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง: รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ ประกอบกับกระแสโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดภาวะโลกร้อน ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถจำหน่ายรวมทั้งส่งออกได้นั้น จำเป็นต้องเป็นสินค้าที่ช่วยรักษ์โลก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต เทคโนโลยีที่ใช้งาน จึงเป็นที่มาของการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “Green Furniture Factory: โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”
ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพคเมืองทองธานี (10 มีนาคม 2553) — ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า “จากผลการวิจัยตลาดและการวิเคราะห์ ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้กำหนดธุรกิจในโลกปัจจุบัน ทำให้คณะทำงานของ iTAP เห็นว่า เฟอร์นิเจอร์ คือ ความสุนทรีย เหมือนแฟชั่น ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามแนวโน้มของตลาด และความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของลูกค้า ซึ่งหากจะเพียงใช้การผลิตเป็นเสาหลักอย่างเดียว ในการนำธุรกิจคงไม่สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในโลกปัจจุบัน ดังนั้น จึงได้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มการออกแบบ และการตลาด เข้ามาเป็นเสาหลักที่สองและเสาหลักที่สามด้วย ได้แก่ โครงการ “ติดอาวุธ ผู้บริหาร : อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย” ในปี 2550 และต่อเนื่องด้วยโครงการ “จากแนวคิด...สู่แนวค้า : เพื่อพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย” ที่มี 2 โมดูล เพื่อพัฒนาการออกแบบ พร้อมต่อยอดการตลาดในโมดูลที่ 1 และเพิ่มผลผลิตให้กับโรงงานในโมดูลที่ 2 ในปี 2551 ซึ่งจาก 2 โครงการข้างต้น ได้มอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 80 ท่าน จาก 40 บริษัท”
ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวอีกว่า “ในปี 2551 iTAP ได้รับความอนุเคราะห์จาก ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง : รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” ให้กับผู้ประกอบการ 3 บริษัทต้นแบบ ซึ่งนำเรื่อง 3R คือ Reuse Reduce และRecycle มาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการใช้ศิลปะการคืนชีวิตให้ขยะ หรือเศษเหลือใช้ของโรงงานมาเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเลือกตัว R แรก คือ Reuse มาใช้ก่อน ด้วยการออกแบบสิ่งเหลือใช้เหล่านั้น เพื่อเปลี่ยนจากขยะ ให้เป็นงานชิ้นใหม่ และสามารถทำเงินได้ด้วย ในปี 2552 ที่ผ่านมา ก็มีบริษัทเข้าร่วมอีก 4 บริษัท ซึ่ง ผลงานของทั้ง 7 บริษัทก็ได้มีการจัดแสดงในงานนี้”
“ปี 2552 เป็นปีที่ มีความตื่นตัวอย่างมากกับปัญหา โลกร้อน และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มาจากวัตถุดิบหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กาว สี ไม้ป่าปลูก โดยในปีที่ผ่านมา สวทช. ร่วมกับทางสมาคมเครื่องเรือนฯ ได้จัดโครงการ “โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” เพื่อช่วยปรับความคิดการผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ 9 บริษัทต้นแบบ โดยมีกิจกรรม เช่น การปรับทัศนคติ ด้านพัฒนาด้านการออกแบบ-ห่วงโซ่อุปทาน-การผลิต-การตลาด-พลังงาน ไปจนถึงการขอการรับรอง (1. Green Mind, 2. Green Design, 3.Green Supply Chain, 4.Green Manufacturing , 5.Green Marketing , 6.Green Energy and 7.Green Certificate) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่จะพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังเป็นกระแสที่เข้มข้นได้อย่างครบถ้วน ถึงวันนี้ โครงการได้ดำเนินมาถึงกิจกรรมที่ 2 Green Design คือ การออกแบบ เชิงนิเวศ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่า : Eco Design for better living โดยมีบริษัทเข้าร่วม 9 บริษัท และมีผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบ คือ อาจารย์ ภัทรพล จันทร์คำ ผลงานของทั้ง 9 บริษัทก็มีการจัดแสดงในงานนี้เช่นกัน โครงการนี้ยังมีกิจกรรมต่อไปอีก จนถึงการได้รับ การรับรองผลิตภัณฑ์ซึ่งคาดว่าจะจบในปี 2554” ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าว
ทั้งนี้ แนวคิดในการนำ R-Reuse มาใช้ ผู้เชี่ยวชาญ iTAP จากโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง : รับกระแสลดโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” ผศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดในการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการออกแบบ ว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นทอง” มาจากความต้องการที่ iTAP และตนเองตระหนักว่าในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมีเศษวัสดุเหลือทิ้งปริมาณมากทั้ง ๆ ที่เป็นของที่ต้องซื้อหาเข้ามาแต่ยังใช้ไม่ทันคุ้มค่าก็ทิ้งไป เลยคิดทำโครงการนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เราเห็นอยู่ จริง ๆ แล้วการลดของเสียไม่ใช่เพียงแค่แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่อาจทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มจากของที่มีอยู่โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง น่าจะมีประโยชน์มาก และที่สำคัญอาจทำให้งานออกแบบของเมืองไทยมีความแตกต่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะกระแสรักษ์โลกกำลัง in trend อย่างตอนนี้ ทำให้สามารถหาผู้ซื้อสินค้าประเภท Eco-products ง่ายขึ้น”
ผศ.ดร.สิงห์ มีความเห็นต่อการออกแบบโดยเฉพาะการนำเศษวัสุดเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น ว่า “การออกแบบจากเศษวัสดุเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการทดลองทดสอบค่อนข้างมากโดยเฉพาะเมื่อได้เศษวัสดุที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน การทำผลิตภัณฑ์จากเศษไม่เพียงแก้ปัญหาด้านเทคนิค แต่ยังเป็นการฝึกคิดนอกกรอบไปพร้อม ๆ กัน ผู้ประกอบการที่ต้องการอยู่รอดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความสามารถนี้ ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ต้องมาก แต่ต้องปรับความคิด ความตั้งใจมากพอสมควร”
ตามที่ได้กล่าวข้างต้น เฟอร์นิเจอร์ คือ แฟชั่น ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญในโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทอง ให้ทรรศนะว่า “ถ้าเราอยากนำเศษมาสร้างชิ้นงานเราควรมุ่งเน้นที่เศษวัสดุ เรื่องแฟชั่นคงเป็นเรื่องรอง ยกเว้นว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะเป็น Fashion accessories อย่างไรก็ดี การมองเรื่อง Fashion จะช่วยให้เราเห็นการแก้ปัญหาที่หลากหลายขึ้น เห็นเทคนิคที่อาจนำมาใช้กับงาน Furniture ได้และทำให้งานน่าสนใจซึ่งเป็นจุดขายที่สำคัญ”
และด้วยกระแสสังคมโลกในปัจจุบันที่กำลังต่างเผชิญในวิกฤตภาวะโลกร้อน สินค้า ผลิตภัณฑ์แทบทุกชนิดที่มีการปรับตัวตามกระแสลดโลกร้อนดังกล่าว ย่อมเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคและเกิดเป็นจุดขายที่ได้เปรียบกว่า ในส่วนนี้ ผู้เชี่ยวชาญ iTAP จากโครงการ “Green Furniture Factory : โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” อ.ภัทรพล จันทร์คำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นจุดขายและช่วยทำตลาดได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ว่าในธุรกิจใดก็ตามมักจะคำนึงถึงก่อนก็คือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นจะขายได้หรือไม่ หรือถ้ายังไม่สามารถขายได้ในตอนนี้แต่สามารถปูทางในเรื่องของการประชาสัมพันธ์และทำตลาดในอนาคตได้”
อ.ภัทรพล จันทร์คำ กล่าวเสริมอีกว่า “อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยกำลังมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นมาก เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นไปแล้วในตลาดโลกถ้าเราจะทำตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกและญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายบริษัทยังขาดก็คือวิสัยทัศน์จากผู้บริหารและนักออกแบบที่จะเข้ามาช่วยในส่วนของการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะการมีวิสัยทัศน์และแนวความคิดที่ดีจากผู้บริหารอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จ”
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ อ.ภัทรพล ได้กล่าวถึงแนวทางในการปรับความคิดในเรื่องการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ว่า “เริ่มแรกเลยก็คงจะเป็นการปูความรู้พื้นฐานว่าอะไรคือการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อจากนั้นจะเป็นในเรื่องความสำคัญและผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบที่ดีในแนวทางนี้ต่อปัจจัยต่างๆ เช่น การตลาดและการขายของบริษัท การใช้งาน ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคม ผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีการให้ความสำคัญที่ต่างกันไป บางบริษัทจะเน้นไปที่ที่มาของวัสดุและการใช้เศษเหลือใช้เพราะเป็นจุดขาย ขณะที่บางบริษัทจะเน้นไปที่ขั้นตอนการออกแบบ การผลิตหรือเทคนิคต่างๆ ส่วนบางบริษัทจะเน้นไปที่การใช้งานของผลิตภัณฑ์และผลกระทบที่มีต่อสังคมและผู้ใช้เป็นพิเศษ และมีบางบริษัทที่สามารถเน้นและให้ความสำคัญในทุก ๆ ขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดซึ่งจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมาก”
สำหรับในเรื่องของการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับในยุคปัจจุบัน เนื่องจากอุตสาหกรรมหลายแห่งได้มีการปรับตัวและหันมาใส่ใจให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ด้วยการลงทุนเม็ดเงินมากมาย เพื่อให้เกิดกระบวนการผลิตที่รักษ์โลก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีสะอาดที่ช่วยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยที่ผู้ประกอบการจำต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมจากกระบวนการผลิตเพื่อการเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียว “การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในช่วงแรก ๆ นั้นมักจะมีการลงทุนที่สูงกว่าปกติ เนื่องจากความไม่คุ้นเคยและการลงทุนในกระบวนการใหม่ ๆ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นมา ต้องอย่าท้อและพยายามคิดเสมอว่าเราจะสามารถหาตลาดและจุดขายของผลิตภัณฑ์ได้” ผู้เชี่ยวชาญในโครงการโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวกล่าว
หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทอง คุณพีรพล ธนเทวี ผู้จัดการโครงการ บริษัท เอ็ม.ที. ไดนาสตี้ จำกัด กล่าวถึง ผลที่ได้รับจากโครงการว่า “เป็นองค์ความรู้แบบใหม่ และยังเป็นการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย โดยมีการผสมผสานทางความคิด ไม่ว่าจะด้านดีไซน์และทางวิศวกรรม เพื่อหาจุดลงตัวให้มากที่สุดในแต่ละชิ้นงาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้นำดีไซน์เข้ามาลองใช้กับของที่บริษัทเรามีอยู่แล้ว โดยทาง ดร.สิงห์ จะมีการ sketch แบบแล้วส่งให้ทางทีมงานของบริษัทดำเนินการพัฒนาสินค้าตามแบบ ซึ่งนับว่าเป็นการจุดประกายทางความคิดแบบใหม่ของบริษัท และในส่วนของตลาดนั้น หากตลาดให้การตอบรับ น่าจะมีการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต”
คุณพีรพล กล่าวถึงการเข้าขอรับการสนับสนุนจาก iTAP ว่า”บริษัทเรามีของเสียที่เกิดจากการผลิตในแต่ละวัน จำนวนมากถึง 12 ตันต่อวัน ซึ่งปกติจะนำเข้าไป recycle เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ แต่การ recycle ในแต่ละครั้งจะมีการสูญเสียของพลังงานเป็นจำนวนไม่น้อย จึงคิดว่าน่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่านี้ ประกอบกับได้มีโอกาสพบกับ ผู้เชี่ยวชาญ ดร.สิงห์ จึงมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลังจากนั้น ทาง iTAP สวทช. จึงได้เข้ามาสนับสนุน”
สำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม้ที่สนใจขอรับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีจากโครงการ iTAP สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำแนะนำและปรึกษา ได้ที่ โทร.0-2564-7000 ต่อ 1300-01 หรือที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap
ข้อมูลเพิ่มเติม
iTAP ได้มีการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมไม้หรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม้มาอย่างต่อต่อเนื่องแล้วหลายโครงการ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ การแปรรูปไม้ ไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ นั่นคือ ผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนและเฟอร์นิเจอร์ โดยได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย มาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งทำให้ค้นพบว่า การที่จะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอดได้นั้น ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม้จะอาศัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพอย่างเดียวคงไม่ได้ หากต้องมีการเพิ่มการออกแบบ และการตลาดเข้ามาเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างขีดความสามารถการแข่งขันที่ยั่งยืนต่อไปได้ จึงได้ดำเนินจัด โครงการ “ติดอาวุธผู้บริหาร: อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย” เมื่อปี 2550 ต่อเนื่องด้วย โครงการ “จากแนวคิด..สู่แนวค้า : เพื่อพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย” ในปี 2551 โดยแบ่งออกเป็น 2 โมดูลหลัก ได้แก่ การพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด และการพัฒนาการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จนกระทั่งปีที่ผ่านมา (2552) ได้มีการดำเนินโครงการ “Green Furniture: โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ตามลำดับ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)
คุณวีระวุฒิ (ไต๋) / คุณชนานันท์ คงธนาฤทธิ์
โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1476-8 sหรือ pr@tmc.nstda.or.th