กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ขึ้นมาที่ระดับ ‘BB+’ จาก ‘BB’ และปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ขึ้นมาที่ระดับ ‘A(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ พร้อมทั้งเพิกถอนอันดับเครดิตทั้งสองจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและภายในประเทศระยะยาวมีแนวโน้มมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ขึ้นมาที่ระดับ ‘F1(tha)’ จาก ‘F2(tha)’
ฟิทช์ได้ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวกแก่อันดับเครดิตของดีแทค ในวันที่ 25 ตุลาคม 2548 หลังจากที่บริษัท บริษัท เทเลนอร์ เอ เอส เอ หรือ เทเลนอร์ ได้ประกาศเพิ่มการถือหุ้นในบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ ยูคอม (ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ดีแทค) และเข้ามามีอำนาจบริหารในดีแทค มากขึ้น เทเลนอร์ ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของดีแทคในกลางปี 2543 จากการซื้อหุ้นทั้งในดีแทคและยูคอม และในช่วงปลายปี 2548 จากการที่กลุ่มเทเลนอร์เข้าซื้อหุ้นเพิ่มในสัดส่วน 39.9% ในยูคอมจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ก่อตั้งบริษัท ประกอบกับการทำคำเสนอซื้อหุ้นยูคอมและดีแทคในภายหลัง ทำให้กลุ่มเทเลนอร์เพิ่มการมีส่วนได้ส่วนเสียใน ดีแทค ขึ้นเป็น 69.3% จาก 40.3% ก่อนหน้านี้
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของดีแทค อยู่บนพื้นฐานจากการที่ฟิทช์เล็งเห็นว่าการที่กลุ่มเทเลนอร์เพิ่มการลงทุนใน ดีแทคแสดงให้เห็นถึงระดับของความเชื่อมั่นและความพร้อมในการสนับสนุนที่เทเลนอร์มีเพิ่มขึ้นในบริษัท ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ดีแทค มีความยืดหยุ่นทางการเงินที่สูงขึ้นและมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการลดระดับหนี้สินในอนาคต โดยขณะนี้ เทเลนอร์มีความคล่องตัวมากขึ้นในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ดีแทคทั้งในรูปของการเพิ่มทุนหรือการงดจ่ายเงินปันผล (ถ้าจำเป็น) อย่างไรก็ตาม จากสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นของดีแทค ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะยังคงทำการระดมทุนด้วยตนเองอยู่ในอนาคต การลงทุนในดีแทคถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของเทเลนอร์ในแถบเอเชีย โดยหากไม่นับกิจการของเทเลนอร์ในประเทศนอร์เวย์ ดีแทคมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มเทเลนอร์ การที่กลุ่มเทเลนอร์มีอำนาจบริหารแบบเต็มรูปแบบน่าจะส่งผลให้ดีแทคมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มการให้ความสนับสนุนจากเทเลนอร์ในด้านต่างๆ ในระยะยาวอีกด้วย การได้รับความสนับสนุนจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมระดับสากลที่แข็งแกร่งกว่าจะช่วยลดทอนความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีด้วย นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้ ยังสืบเนื่องมาจากการที่ดีแทคสามารถดำรงสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งได้ โดยดีแทคเองมีนโยบายที่จะลดระดับหนี้สินของบริษัทอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ถึงแม้ว่าจะมีการแข่งขันทางราคาที่รุนแรงในปี 2548 ดีแทคสามารถที่จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้ ทั้งยังสามารถประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยในปี 2548 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการ และ EBITDA เพิ่มขึ้น 11% และ 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าตามลำดับ โดยผลประกอบการที่ดีขึ้นนี้สืบเนื่องมาจากรายได้ที่สูงขึ้นจากโทรศัพท์ระบบเติมเงินและการให้บริการเสริม อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากการดำเนินงานส่วนใหญ่ของบริษัทได้ถูกใช้ไปในการลงทุนและความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้น ส่งผลให้กระแสเงินสดสุทธิ (free cash flow) ของบริษัทติดลบในปี 2548 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ของดีแทค นั้นค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 2.4 เท่า ณ สิ้นปี 2548
ดีแทคเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศโดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 28.5% และมีชื่อเสียงทางการค้าเป็นที่รู้จักอย่างดีรวมถึงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทประกอบกิจการในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นและบริษัทมีโครงสร้างต้นทุนทางสัมปทานที่ค่อนข้างสูง ความเสี่ยงทางด้านเครดิตของดีแทคยังรวมถึงความไม่แน่นอนทางด้านกฎหมายของกิจการโทรคมนาคมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว
ติดต่อ: อรวรรณ การุณกรสกุล, โสมสิริ ชฎาวัฒน์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755