สนช.ผลักดันสเปเชียลตี้ ไบโอเทคเทคโนโลยีชีวภาพด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารปรุงแต่งจากยีสต์ในอาหารสัตว์ พร้อมเร่งดีทแฮล์มเดินหน้าขยายฐาน โลจิสติกในไทย

ข่าวเทคโนโลยี Monday July 10, 2006 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลักดันเทคโนโลยีชีวภาพด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารปรุงแต่งจากยีสต์ เพื่อนำมาปรุงแต่งในอาหารสัตว์ มุ่งเน้นสัตว์ที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ เช่น กุ้ง สุกร ไก่ วัวนม ทั้งนี้ สนช. ให้การสนับสนุนบริษัท สเปเชี่ยลตี้ ไบโอเทค จำกัดภายใต้โครงการ นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย สำหรับวงเงินกู้ 20 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 120 ล้านบาท
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการคิดค้นวิจัยรวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิตสารสกัดจากยีสต์ อีกทั้งเป็นการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดพัฒนาอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อช่วยยับยั้งสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารและวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ยังช่วยในการยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นโรคระบาดต่อระบบทางเดินอาหารของสัตว์ และยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสัตว์เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดี ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการตั้ง รับต่อ นโยบายการค้าของกลุ่มการค้าเสรียุโรป(EU) ที่ว่าด้วยการกีดกันอาหารสัตว์ที่มีปริมาณสารต้องห้ามปนเปื้อนอยู่”
ดร.พรรณวิภา กฤษฏาพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สเปเชียลตี้ ไบโอเทค จำกัด กล่าวว่า “บริษัทได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการนวัตกรรม ดี ...ไม่มีดอกเบี้ย และได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยมีเป้าหมายในการผลิตสินค้าโดยใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีชีวภาพอย่างครบวงจร เพื่อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากลและมีต้นทุนที่ต่ำลดการพึ่งพาการนำเข้าของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากมอลท์ยีสต์ที่ปัจจุบันประเทศไทยต้องเพิ่งการนำเข้าสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้บริษัทได้วางเป้าหมายที่จะส่งออกสินค้าประมาณต้นปีหน้า ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกทาง”
นวัตกรรมนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพที่ทัดเทียมกับสินค้าจากต่างประเทศ และกลายเป็นเทคโนโลยีต้นแบบซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ชีวภาพในประเทศไทยทำให้มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชาติอย่างยั่งยืน สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์และสารเติมแต่งในอาหารสัตว์ จะประกอบด้วยสารสกัดจากยีสต์ 3 ชนิด ได้แก่ นาโนซอร์บ, นาโนมอส และอิมมูโนส ทั้งนี้ เพื่อให้อาหารมีคุณภาพดีเหมาะกับการเจริญเติบโตตลอดจนพัฒนาการของสัตว์จำพวก สุกร ไก่ วัวนม และสัตว์ที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์สูงอย่าง กุ้ง เป็นต้น
การคิดค้นและวิจัยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบริษัทฯ ได้คำนึงถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและการบริโภคของมนุษย์ โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบจากธรรมชาติผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทย ด้วยการผสมสมุนไพรหลายชนิด เพื่อช่วยยับยั้งและป้องกันโรคติดต่อในสัตว์ เช่น โรคท้องร่วงในหมู การติดเชื้อไวรัสในกุ้ง ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้สารปฏิชีวนะผสมในอาหารสัตว์ สำหรับสินค้าในกลุ่มอาหารสัตว์ทั้งหมดในขณะนี้ทาง บริษัทฯ ได้มีการจัดจำหน่ายผ่านผู้แทนขายสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับระดับสากล คือ บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด (DKSH) ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะวางตำแหน่งสินค้าในกลุ่มของสินค้าพรีเมี่ยม (Premium grad) ได้แก่
1. นาโนซอร์บ (Nanosorb) เป็นสารที่สกัดจากผนังเซลล์ของยีสต์ มีองค์ประกอบหลักเป็นสารเบต้ากลูแคนและไคติน มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารสัตว์และวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์
2. นาโนมอส (Nanomos) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นภายใต้กระบวนการและเทคโนโลยีระดับนาโน-ไบโอเทคโนโลยี ด้วยการแยกชิ้นส่วนของชั้นผนังเซลล์ยีสต์ที่มีขนาดเล็กมาก ส่วนประกอบสำคัญของ นาโนมอส ได้แก่ สารประกอบไกลโคโปรตีน หรือเรียกอีกชื่อว่าสารแมนโนโปรตีน มีคุณสมบัติในการจับกับแบคทีเรียที่เป็นพาหะหรือก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารของสัตว์เช่น หมู ไก่ วัว เป็นต้น
3. อิมมูโนส (Immunose) เป็นสารสกัดจากผนังเซลล์ยีสต์ที่มีองค์ประกอบหลักเป็นสารเบต้ากลูแคนชนิดมีกิ่ง (Branched Beta-glucan) มีฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสัตว์ทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตดีและมีคุณภาพดี
4. นาโนโปรพลัส (nanoproplus) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นแหล่งของโปรตีน กรดอะมิโน และวิตามันบีรวม สำหรับสัตว์ทุกชนิด ทำการสกัดและทำให้บริสุทธิ์ด้วยเทคโนโลยีที่ได้คุณภาพและมีมาตรฐานสูง
เดวิท แมคโดนัลด์ รองประธานอำนวยการ หน่วยธุรกิจวัตถุดิบเฉพาะทาง บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ดีเคเอสเอช เป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายที่มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าต่างๆ เฉพาะด้านผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor) ในการดำเนินการตลาด การขาย และโลจิสติก ซึ่งบริษัท สเปเชียลตี้ ไบโอเทค จำกัด ได้แต่งตั้งให้บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) แผนกยาสัตว์ เป็นผู้จำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสัตว์ บริษัทฯได้ช่วยศึกษาตลาดอาหารสัตว์ เช่น ความต้องการของเจ้าของฟาร์ม นักสัตว์แพทย์ที่จะสามารถช่วยให้การเลี้ยงสุกร ไก่ กุ้ง และปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งให้คำปรึกษาด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดแบบปรับเปลี่ยนตามความต้องการและสร้างความแตกต่างทางความต้องการของลูกค้า (Customization & differentiation) เพื่อให้เข้ากับรูปแบบของแต่ละธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทางด้านราคาผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่จัดอยู่ในระดับพรีเมี่ยม หากนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ในระดับเดียวกันในฐานะที่บริษัทฯมีความชำนาญมากกว่า ทั้งทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านนักสัตวแพทย์, นักวิทยาศาสตร์ Biotech รวมถึงให้คำแนะนำและปรึกษา ส่วนทางด้านราคาบริษัทฯยังจัดว่าถูกกว่าบริษัทอื่น”
เกี่ยวกับสำนักงานนวักรรมแห่งชาติ
“สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 โดยให้เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีระบบบริหารงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการ และดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของ “คณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ” โดยมีพันธกิจในการดำเนินการและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศในเชิงระบบ ทั้งในด้านการปรับปรุงและบุกเบิก เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ และโครงการนวัตกรรมเชิงความรู้ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่าย ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การสร้างให้เกิด “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ขึ้นโดยเร็ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท เอพีพีอาร์ มีเดีย จำกัด
พัชราวดี สุทธิภูล โทร 0-2655-6633 /0-1817-7094 อีเมล์: patcharavadee@apprmedia.com
บุษกร ศรีสงเคราะห์ โทร 0-2655-6633 /0-1911-0931 อีเมล์: busakorn@apprmedia.com
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
คุณอาศยา ศิริเอาทารย์ โทร 0-2644-6000 ต่อ 123 อีเมล์: asaya@nia.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ