กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สสวท.
GSP เป็นโปรแกรมที่ครูสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ มีประสิทธิภาพและน่าสนใจมาก สามารถนำเสนอภาพเคลื่อนไหว (animation) มาใช้อธิบายเนื้อหาที่ยาก ๆ ให้เป็นรูปธรรม ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจง่าย และโปรแกรมยังเน้นให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติด้วย ตัวเองได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ อย่างไม่มีข้อจำกัด
ประเทศไทยนั้นได้ครองลิขสิทธิ์การใช้ซอฟท์แวร์ GSP เมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เนื่องจาก สสวท. นั้นมุ่งมั่นที่จะให้เด็กไทย มีสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย และสถานศึกษาของไทยควรจะมีซอฟท์แวร์ราคาถูกไว้ใช้พัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
อ. สมพร ฉันทะ หัวหน้าหมวดคณิตศาสตร์ โรงเรียนพะเยาพิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนแกนนำของ สสวท. เล่าว่า ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจาก สสวท. ให้ส่งครูคณิตศาสตร์ 3 คนเข้ารับการอบรม เนื่องจากว่า GSP เป็นโปรแกรมที่อธิบายเนื้อหาที่ยากให้เห็นชัดเจน เข้าใจง่าย และโจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่สลับซับซ้อนก็สามารถนำ GSP มาอธิบายให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด สมัยก่อนเราอาจมีทฤษฎีให้ท่องกันเฉย ๆ เราต้องใช้วิธีการหลายอย่างเพื่ออธิบายทฤษฎีเหล่านั้นแต่ก็ไม่เห็นชัดเจน แต่พอมี GSP สามารถอธิบายเกือบทุกทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ได้
เนื่องจากพวกเราทั้งสามคนมีความคิดตรงกันว่าเราอยากให้ครูผู้สอนคณิตศาสตร์เอา GSP ไปใช้สอนเด็ก แล้วผลประโยชน์ก็จะอยู่ที่ตัวเด็ก คือ เด็กเรียนแล้วได้เห็นชัดเจน ก็เลยขยายผลไปให้ครูในหมวดคณิตศาสตร์ก่อน จากครูในหมวดก็ได้ขยายผลต่อโดยเชิญชวนครูมัธยมศึกษาในจังหวัดพะเยามารับการอบรม GSP โดยเฉพาะ ต่อมาก็เล็งเห็นว่าครูประถมศึกษาในจังหวัดพะเยาและครูมัธยมศึกษาในจังหวัดอื่นก็เกิดความสนใจ ก็เลยเชิญพวกเราไปเป็นวิทยากรขยายผล
การจัดกิจกรรม GSP ในโรงเรียนสิ่งที่เราลงอยู่เสมอคือกิจกรรมชุมนุมคณิตศาสตร์ซึ่งจัดเป็นฐาน ๆ หนึ่งให้เด็กได้เข้าไปเรียน และเราขยายผลไปให้เด็กเรียนอ่อนในลักษณะพี่สอนน้อง หรือเพื่อนสอนเพื่อน เด็กก็จะมีความสุข การใช้ในชั้นเรียน เราสามารถอธิบายทฤษฎีบางทฤษฎีให้เห็นชัดเจน เช่นในระดับชั้น ม. ปลาย เช่น ทฤษฎีกราฟหรือเว็คเตอร์ 3 มิติ การใช้ GSPจะทำให้เห็นชัดเจนมาก และเด็กจะเข้าใจมากยิ่งขึ้น
การนำ GSP ไปใช้ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั้น หมวดคณิตศาสตร์ยังได้ขยายผลไปสู่การทำโครงงานคณิตศาสตร์ด้วย โครงงานหนึ่งที่โดดเด่นก็คือ โครงงานคณิตศาสตร์ เรื่อง การออกแบบลวดลายด้ามไม้กวาดดอกหญ้า น.ส. ณัฐสุดา ทะลิ (ฝ้าย) น.ส. อภิชญา ปิงเมือง (เอิร์ธ) และนาย จารุกิตติ์ ธิติพรพงศ์ (เจเจ) ชั้น ม. 4
เนื่องจากไม้กวาด เป็นอุปกรณ์ที่ยังจำเป็นต้องใช้ภายในครอบครัว แม้ปัจจุบัน บางบ้านใช้ครื่องดูดฝุ่นบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีบ้านและสถานที่ต่าง ๆ อีกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการใช้ไม้กวาด ดังนั้น การทำไม้กวาดเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง
น.ส. ณัฐสุดา ทะลิ (ฝ้าย) เล่าว่า โปรแกรม GSP ที่เราเรียนมาสามารถนำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ เป็นทรงกลม เป็นรูปเหลี่ยมก็ได้ ยกตัวอย่างไม้กวาด ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน ปลอกปากกา เรามีความภูมิใจที่ได้พัฒนาสินค้า OTOP ของเรา สร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นสิ่งที่เราได้ศึกษา ค้นพบ ช่วยกันค้นคว้าขึ้นมา เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง
“แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดโครงงานนี้ก็คือ เนื่องจากกลุ่มของเราได้เรียนโปรแกรม GSP และได้ไปดูไม้กวาดซึ่งเป็นสินค้า OTOP 4 ดาวของจังหวัดพะเยา และคิดว่า GSP น่าจะนำไปใช้ออกแบบด้ามไม้กวาดได้ จึงคิดจะพัฒนาขึ้นมา เพราะถ้าด้ามไม้กวาดมีลวยลาดซ้ำ ๆ เดิมก็จะเป็นที่เบื่อหน่าย เราก็คิดพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมา”
น้องฝ้ายกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากต้นทุนของการทำไม้กวาดนั้นแพงเพราะทำมาจากกก ซึ่งกกไม่ได้มาจากจังหวัดพะเยา ต้องซื้อวัตถุดิบมาจากจังหวัดอื่น จังหวัดของเราก็มีวัตถุดิบอยู่แล้ว ก็คิดกันว่าน่าจะใช้ผักตบชวาหรือตอกจากไม้ไผ่แทน เพราะผักตบชวาในจังหวัดเราก็มีอยู่มาก ทางจังหวัดจะได้ลดต้นทุน และช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดด้วย เพราะถ้าทิ้งผักตบชวาไว้เฉย ๆ ก็จะเกะกะสายตาชาวบ้าน และก็เป็นปฏิกูลของแม่น้ำลำคลอง
น.ส. อภิชญา ปิงเมือง (เอิร์ธ) เราทำได้เฉพาะการออกแบบลายแล้วนำลายที่เราออกแบบไปให้ผู้ผลิตไม้กวาดทำผลิตภัณฑ์ตามลายที่เราออกแบบ แต่ทางผู้ผลิตบอกว่าลายใหม่ต้องใช้เวลาขึ้นลายนานมาก เพราะเป็นลายที่ยังไม่ชำนาญ อย่างลายเดิม ๆ ที่ทำอยู่ใช้เวลาทำประมาณ 10 วัน แต่ว่าลายที่เราออกแบบไปให้นั้นต้องแกะลายใหม่หมดเลย ต้องใช้เวลานานหน่อยค่ะ
เอิร์ธบอกว่า “เราประทับใจครูที่เป็นที่ปรึกษา หาข้อมูล ช่วยพาไปเรียนรู้แหล่งที่ทำไม้กวาด คนที่ ทำไม้กวาดก็ช่วยเหลือดีมาก ให้ความรู้ บอกทุกอย่างเลยค่ะ อีกอย่างก็คือ GSP สามารถสร้างงานศิลปะ และสร้างรายได้”
นายจารุกิตติ์ ธิติพรพงศ์ (เจเจ) อธิบายว่าวิธีออกแบบนั้นไม่ยาก ก็คือ ใช้ GSP สร้างจุด 1 จุด แล้วเลื่อนขนานในลักษณะใดก็ได้ตามที่เราต้องการ จากนั้นก็ลากเส้นตรงต่อจากจุดเหล่านั้น ลากต่อกันโดยการสุ่ม ลากเส้นตรงออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วออกแบบให้มี หลาย ๆ ลาย
“นอกจากที่เราจะทำไม้กวาดแล้ว ในอนาคตเรายังคิดที่จะออกแบบลายเสื่อ ลายเสื้อผ้า กล่องใส่กระดาษทิชชู ปลอกปากกา ขึ้นอยู่กับว่าลวดลายต่าง ๆ ที่สร้างออกมาเหมาะกับผลิตภัณฑ์อะไร”
ส่วน อ.สมพร ฉันทะ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้ครูคณิตศาสตร์ทุกคนในประเทศไทยได้ใช้โปรแกรม GSP นี้แล้วนำไปใช้สอนนักเรียนเพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจคณิตศาสตร์จากนามธรรมเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น อยากให้ผู้บริหารให้การสนับสนุนการใช้ GSP ในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้มากก็คือคอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์”
สนใจนำโปรแกรม GSP ไปใช้ในโรงเรียน ติดต่อได้ที่ สสวท.
โทร. 02-392-4021 ต่อ 1245 หรือคลิกดูที่เว็บไซต์ http://thaigsp.ipst.ac.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net