กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สวทช.
สวทช. ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ พัฒนาเทคโนโลยี ‘รีไซเคิลพลาสติก’ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากของเสียนำกลับมาใช้ใหม่ได้คุณภาพ ลดต้นทุนผู้ประกอบการได้กว่า 10 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดปริมาณของเหลือทิ้งจากโรงงานพลาสติกลง หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้ราคาพลาสติกพุ่ง
“บรรจุภัณฑ์พลาสติก” นับว่ามีความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูงเช่นในปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้ง จะช่วยบ่งบอกถึงตัวสินค้า และยังเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับลูกค้าหรือผู้บริโภค ช่วยตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า จนอาจนับได้ว่าบรรจุภัณฑ์เป็นศิลปะในการแสดงสินค้าให้ดูน่าดึงดูดใจมากที่สุด
แต่เนื่องจากพลาสติกเป็นวัสดุที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนาน ซึ่งในแต่ละปีมีการบริโภคพลาสติกเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาหารอุปโภคบริโภคที่มักจะเห็นได้ทั่วไป อาทิ เบเกอร์รี่ , คุกกี้ , ขวดน้ำดื่ม , ถ้วยน้ำ หรือ ภาชนะบรรจุอาหารต่างๆ ฯลฯ ที่สำคัญพลาสติกยังเป็นวัตถุดิบที่ได้จากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ฉะนั้นเมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้พลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบรรจุภัณฑ์มีราคาแพงขึ้นและส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นที่มาเกี่ยวกับแนวคิด ‘การพัฒนากระบวนการรีไซเคิลในการนำของเสียและเศษพลาสติกจากกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีน (PP) และโพลีสไตรีน (PS) กลับมาใช้ใหม่’ ของ บริษัท เอ็กซ์เซล แพคเกจจิ้ง จำกัด ซึ่งมีประสบประการณ์ด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกมายาวนานกว่า 20 ปี และจัดเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศ
นายกิตติ์ปัญญา ศิรินิ่มนวลสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็กซ์เซล แพคเกจจิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก เปิดเผยว่า จากที่บริษัทฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของระบบคุณภาพประกอบกับกำลังการผลิตเดิมที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ บริษัทจึงตัดสินใจขยายกำลังการผลิตเพิ่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นรายได้หลัก คือ โพลีโพรไพลีน ( Polypropylene : PP ) และโพลีสไตรลีน ( Polystyrene : PS ) เนื่องจากพลาสติกทั้ง 2 ชนิดนี้ ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหาร , สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป , ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และบรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งในแต่ละปีบริษัทต้องใช้ถึง 7 แสนกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวมกันถึง 31.9 ล้านบาท แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มักจะมีเศษและของเสียจากการผลิตสูงถึงกว่าร้อยละ 24 ส่งผลให้บริษัทต้องสูญเสียไปเป็นเงินถึงปีละกว่า 7 ล้านบาท
บริษัทฯจึงสนใจที่จะพัฒนากระบวนการรีไซเคิลในการนำของเสียและเศษพลาสติกจากกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิด PP และ PS กลับมาใช้ใหม่ด้วยระบบ Extrusion & Co-extrusion of Plates เข้ามาใช้เมื่อต้นปี 2547 โดยในการจัดซื้อเทคโนโลยีดังกล่าวทางบริษัทฯได้รับการสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 9.75 ล้านบาท จากโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน หรือ CD ในสังกัดศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
หลังจากได้นำระบบดังกล่าวมาใช้ บริษัทฯ สามารถนำชิ้นงานPP และ PS ที่เสียหายจากกระบวนการผลิต กลับมารีไซเคิลผลิตเป็นแผ่นพลาสติกใหม่สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบต่อไปได้ทั้งหมด ช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบลงได้ถึง 10 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังทำให้บริษัทฯได้พัฒนาเทคนิคและสูตรส่วนผสมการผลิตจนสามารถนำเศษพลาสติกมารีไซเคิลได้ทั้งหมด 100% โดยไม่ต้องผสมเม็ดพลาสติกใหม่แต่อย่างใด และยังสามารถกำหนดสีและคุณภาพความหนา-บางของแผ่นพลาสติกได้เอง ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้นได้ ที่สำคัญ ยังทำให้พนักงานของบริษัทมีทักษะเพิ่มมากขึ้น ในการใช้เครื่องมือและเทคนิคที่ทันสมัยอีกด้วย
เครื่องรีไซเคิลพลาสติกด้วยระบบ Extrusion & Co-extrusion of Plates ดังกล่าว นำเข้าจากประเทศบราซิลมีประสิทธิภาพในการผลิต สามารถทำงานได้นาน 10 ชั่วโมง และมีกำลังการผลิตถึง 280 กิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือ เกือบ 3,000 กิโลกรัมต่อวัน โดยการนำเอาเศษพลาสติกที่เหลือจากการผลิตบรรจุภัณฑ์มาบดให้เป็นเม็ดเล็กๆ ผสมกับเม็ดพลาสติกตามอัตราสัดส่วน จากนั้นเครื่องจะทำการหลอมพลาสติกให้เป็นเนื้อเดียวกันด้วยความร้อนในอุณหภูมิสูงกว่า1000C และรีดออกมาเป็นแผ่นพลาสติกใหม่สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ต่อไป ซึ่งในการรีไซเคิลนี้ ยังสามารถกำหนดขนาดความหนาของเนื้อพลาสติก และกำหนดสีได้ตามที่ต้องการ
ดังนั้น ด้วยกระบวนการผลิตที่ทันสมัยทำให้ บริษัทฯ มีวัตถุดิบพร้อมที่สามารถนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์ส่งลูกค้าได้ตรงตามเวลา และสามารถกำหนดราคาถูกที่กว่าคู่แข่ง ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ยังได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขถึงความปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย โดยขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการเข้าสู่ระบบ ISO ต่อไป
นายกิตติ์ปัญญา กล่าวต่อว่า “ จากความช่วยเหลือทางด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ได้รับจาก สวทช. ทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก และมั่นใจว่าหลังจากการนำเครื่องจักรดังกล่าวเข้ามารีไซเคิลพลาสติกกลับมาใช้ใหม่แล้ว จะทำให้บริษัทมีโอกาสในการแข่งขันและขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น คาดว่า ภายในปี 2549 จะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 หรือประมาณ 260 ล้านบาท โดยในปี 2548ที่ผ่านมา มีผลประกอบการอยู่ที่ 195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 40”
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อยื่นขอร่วมโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1335 — 1339 ได้ทุกวันและเวลาราชการ หรือ ที่เว็ปไซต์ www.nstda.or.th/cd
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (CD)
โทร.0-2619-6187 , 88
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net