ปตท. นำร่องลดราคาน้ำมันดีเซลช่วยภาคขนส่ง ลิตรละ 1 บาท เริ่มจาก ขสมก. และ บขส.

ข่าวทั่วไป Saturday May 13, 2006 13:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--ปตท.
มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.ศกนี้ เป็นต้นไป เป็นเวลา 3 เดือน รวมความต้องการใช้น้ำมันประมาณ 45 ล้านลิตร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของส่วนรวม วอนทุกฝ่ายร่วมใจกันประหยัด
นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงเกิดภาวะวิกฤติพลังงานที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในหลายด้าน โดยเฉพาะภาคขนส่งซึ่งนับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการอุปโภคและบริโภค ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ จึงพร้อมให้ความช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับภาครัฐฯ ในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยในส่วนของ ปตท. นั้น จะลดราคาขายน้ำมันดีเซลให้แก่กลุ่มรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่รับน้ำมันเชื้อเพลิงจาก ปตท. โดยตรง ในราคาที่ต่ำกว่าหน้าสถานีบริการน้ำมันลิตรละ 1 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม — 15 สิงหาคม ศกนี้
การลดราคาน้ำมันดีเซลของ ปตท. ให้แก่ ขสมก. และ บขส. ในครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่อง ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลรวมประมาณ 15 ล้านลิตร/เดือน (ขสมก. 11 ล้านลิตร และ บขส. 4 ล้านลิตร) หรือคิดเป็นปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตลอดโครงการ 3 เดือน รวม 45 ล้านลิตร ซึ่งทั้ง ขสมก. และ บขส.มีรถฯ ให้บริการประชาชนรวมประมาณกว่า 4,000 คัน ( ขสมก. 3,200 คัน และ บขส. กว่า 900 คัน) และสำหรับในส่วนของผู้ประกอบการรายอื่นๆ นั้น อยู่ในระหว่างสรุปรายชื่อจำนวนรถฯ และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจากกระทรวงคมนาคม ซึ่ง ปตท. พร้อมให้การช่วยเหลือต่อไป
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ ปตท. กล่าวต่อไปว่า ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนเช่นนี้ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันประหยัดอย่างจริงจัง เพราะประเทศต้องนำเข้าพลังงานกว่า 90% ต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศปีละประมาณ 700,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของ ปตท. พร้อมทำหน้าที่ในฐานะองค์กรที่มุ่งดูแลรับผิดชอบด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเสมอมา โดยเฉพาะในยามเกิดวิกฤติพลังงาน ปตท. พร้อมและเต็มใจช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนและภาคธุรกิจ เห็นได้จากการพิจารณาปรับราคาน้ำมันนั้น ปตท.ได้ชะลอการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศให้ช้าที่สุด (เป็นรายสุดท้ายหรือไม่มีการปรับขึ้นในขณะที่ผู้ค้าฯ รายอื่นๆ ได้ปรับราคาขึ้น) เท่าที่จะสามารถกระทำได้ โดยผลของการชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ปตท. รับภาระแทนประชาชนจากที่ไม่ได้ปรับราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามราคาตลาดโลก รวมเป็นเงินถึงกว่า 1,800 ล้านบาทแล้ว (หรือประมาณวันละ 40 ล้านบาท)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ