โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดงานครบรอบ 2 ปี สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์

ข่าวทั่วไป Monday April 24, 2006 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
พร้อมเปิดห้องประชุมปฏิบัติการแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นศูนย์อบรมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เพื่อวิวัฒนาการของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าด้วยเทคนิคแผลขนาดเล็ก
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทยทางด้านกระดูกและข้อ ได้จัดงานครบรอบ 2 ปี ของสถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ ซึ่งเป็นศูนย์อบรมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์และเผยแพร่วิวัฒนาการของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าด้วยเทคนิคแผลขนาดเล็ก โดยงานครบรอบฯ นับเป็นโอกาสอันดีในการเปิดห้องประชุมแห่งใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการอบรมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และใช้เพื่อกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ โดยงานครบรอบฯ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์นายแพทย์พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดห้องประชุมแห่งใหม่ ในโอกาสที่สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ ครบรอบ 2 ปี ในวันที่ 21 เมษายน 2549 ณ ตึกเจริญ-สมศรี เจริญรัชภาคย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ด้วยความร่วมมือจาก บริษัท ซิมเมอร์ เมดิคัล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็น ผู้นำอันดับหนึ่งในการดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม และภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปฏิวัติการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่า โดยจัดตั้งเป็นศูนย์อบรมศัลยแพทย์ในด้านเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าด้วยเทคนิคแผลขนาดเล็ก และเนื้อเยื่อไม่ชอกช้ำที่นับว่าทันสมัยที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกในขณะนี้ สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ตั้งอยู่ที่ตึกเจริญ-สมศรี เจริญรัชภาคย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์อบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากระดูกและข้อจากโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย และแพทย์ต่างชาติจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย เพื่อให้นวัตกรรมใหม่ได้สร้างคุณประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกและข้อ รวมทั้งเพื่อเป็นการเผยแพร่เทคโนโลยีทางวงการแพทย์สาขากระดูกและข้อในวงกว้างต่อไป
ศาสตราจารย์นายแพทย์พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ มีจุดประสงค์การก่อตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์อบรมแพทย์สาขากระดูกและข้อ ในการใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย และเผยแพร่เทคนิคนี้ให้เป็นที่นิยมในวงกว้าง โดยเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็กจะไม่ตัดผ่านกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อจึงไม่ชอกช้ำหรือเสียการทำงาน ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาพักฟื้นของคนไข้ให้น้อยลง กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ในระยะเวลาอันสั้น การสร้างห้องประชุมสัมมนาแห่งใหม่ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความเจริญก้าวหน้าในสาขาเรื่องโรคกระดูกและข้อ โดยเฉพาะเทคนิคใหม่ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูกที่มีแผลเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูง”
สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ (Chula-Zimmer Institute)
ความเป็นมาของสถาบันซิมเมอร์
บริษัท ซิมเมอร์ โฮลด์ดิ้งส์ อิงค์ ก่อตั้งสถาบันซิมเมอร์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546 พร้อมจัดการประชุมร่วมกับศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลและเอกชน สถาบันซิมเมอร์นับเป็นส่วนสำคัญของโปรแกรมนำร่องของอุตสาหกรรมของซิมเมอร์ในการนำคุณประโยชน์ของการผ่าตัดด้วยเทคนิคแผลขนาดเล็ก (Minimally Invasive Surgery — MIS) กับผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่า
การก่อตั้งสถาบันซิมเมอร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานับเป็นจุดสำคัญอย่างแท้จริงสำหรับวิวัฒนาการของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าด้วยเทคนิคแผลขนาดเล็กตลอดระยะเวลา 3 ปี สำหรับ ประเทศไทย สถาบันซิมเมอร์ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายใต้ชื่อ “สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ (Chula-Zimmer Institute)” นับเป็นสถาบัน MIS ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย
ในแต่ละปี ณ สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ (Chula-Zimmer Institute) ได้จัดหลักสูตรอบรมศัลยแพทย์ทางออร์โธปิดิกส์จำนวนมาก โดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านออร์โธปิดิกส์จากทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็น 4ประเภท ได้แก่
- ข้อสะโพก: การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกด้วยเทคนิคแผลขนาดเล็ก (Mini Incision and MIS Anterolateral THA)
- ข้อเข่า: การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าด้วยเทคนิคแผลขนาดเล็ก (Mini Incision and MIS QS TKA, MIS UKA)
- กระดูกสันหลัง: การผ่าตัดใส่อุปกรณ์ยึดกระดูกสันหลัง
- การผ่าตัดรักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากอุติเหตุ โดยใช่โลหะดามกระดูก
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยหรือบาดแผลเล็ก (MIS Anterolateral Hip Procedure A Muscle Sparing Approach to THA)
ฟื้นตัวเร็ว ลดความเจ็บปวด
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยหรือบาดแผลเล็ก เป็นหนึ่งในวิธีการผ่าตัดที่ลดการบาดเจ็บของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน คุณประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยหรือบาดแผลเล็ก ได้แก่
- ลดการระบมหรือการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ เนื่องจากหลีกเลี่ยงการตัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
- ฟื้นตัวหลังจากการผ่าตัดได้เร็วกว่าเดิมและบาดเจ็บน้อยลงกว่าการผ่าตัดแบบเดิม
- บาดแผลและแผลเป็นเล็กลง
- พักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน จากเดิม 3-5 วัน ผู้ป่วยบางรายสามารถกลับบ้านได้ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง
- เสียเลือดน้อยลง ทำให้ลดความจำเป็นในการใช้เลือดจากการบริจาค
- สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติได้เร็วขึ้น
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยหรือบาดแผลเล็ก (MIS Quad-Sparing TKA)
ในการใช้เทคนิคและเครื่องมือที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงสำหรับการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดชนิดแผลเล็กในปัจจุบัน หลีกเลี่ยงการตัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูกโดยไม่จำเป็น หากเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม คุณประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยหรือบาดแผลเล็ก (MIS Quad-Sparing TKA) จะทำให้
- บาดแผลเล็กลงเหลือ 3-5 นิ้ว จากเดิม 12 นิ้ว
- ฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดแบบดั่งเดิม
- เสียเลือดน้อยลง
- บาดเจ็บน้อยลง
- สามารถกลับมาทำงานและดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติได้เร็วขึ้น
สอบถามรายละเอียด หรือต้องการภาพที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่:
ฤทัยวรรณ ตันวงษ์วาน / ธนิตศักดิ์ พิทักษ์สินากร เลขานุการภาควิชาออร์โธปิดิกส์
ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์
บริษัท โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โทร. 0-2260-5820 ต่อ 114 โทร. 0-2256-4510
โทรสาร. 0-2260-5847-8 อีเมล์. ortho@md.chula.ac.th
อีเมล์. tqprthai@tqpr.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ