กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
การประชุมเอดส์นานาชาติ ครั้งที่ 16 (XVI th International AIDS Conference) หรือเอดส์โลก 2006 จัดขึ้นที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 13 — 18 สิงหาคมนี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของคนทำงานด้านเอดส์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรสายสุขภาพ ผู้ทำงานด้านเอดส์ในชุมชน รวมถึงผู้ติดเชื้อ ได้มาพบปะกันทุกๆ 2 ปี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากการมาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันแล้ว สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับงานเอดส์โลกเสมอมา คือ การมอบรางวัลริบบิ้นแดง (Red Ribbon Award) ให้กับองค์กรที่ทำงานกับชุมชนในเชิงผลักดัน รณรงค์ ช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์
รางวัล Red Ribbon เป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาครัฐหรือเอกชน ที่ทำงานรณรงค์ในเชิงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ในชุมชน
ในปีนี้มีองค์กรที่ทำงานด้านเอดส์กว่า 517 องค์กรทั่วโลก ที่ส่งผลงานเข้าร่วมชิงรางวัล Red Ribbon แต่มีเพียง 25 องค์กรเท่านั้น ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามานำเสนอผลงานของตัวเองในการประชุมเอดส์โลก ครั้งที่ 16 ที่ประเทศแคนาดา เพื่อให้ได้ 5 องค์กรที่เหมาะสมที่จะได้รับรางวัล Red Ribbon ซึ่งประเทศที่ผ่านการคัดเลือกส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา
1 ใน 25 องค์กรจากทั่วโลกและเป็นหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ที่มีโอกาสได้นำเสนอผลการทำงานของผู้ติดเชื้อฯในประเทศไทย ก็คือ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
ด้วยเรามีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนให้ผู้ติดเชื้อและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการพัฒนา สังคม รวมทั้งสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนด้วยความเข้าใจ และคนในชุมชนมีส่วนในการแก้ไขปัญหาเอดส์
เดิมทีเราต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง เนื่องจากการสร้างความเข้าใจทั้งเรื่องการรักษา การป้องกัน และการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อของคนในสังคมยังไม่ดีพอ เราต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยทางกายที่ยังไม่รู้ว่าจะดูแลรักษาตัวเองอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ต้องการส่งเสียงบอกกับสังคมที่ยังไม่เข้าใจเรื่องราวของพวกเรา ดังนั้น “กลุ่มผู้ติดเชื้อ” จึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือดูแลกันให้มีกำลังใจ และมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อเกิดกลุ่มขึ้นหลายๆกลุ่มจึงนำมาสู่การเชื่อมร้อย เป็นเครือข่าย เพื่อเป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในแต่ละภาค จนในที่สุดนำไปสู่การเป็นเครือข่าย
ปัจจุบัน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มีเครือข่ายฯในระดับภูมิภาค ทั้งหมด 7 ภูมิภาค คือ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้ มีกลุ่มผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ กว่า 908 กลุ่ม
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราเน้นการทำงานกับเพื่อนผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ ด้วยการให้ข้อมูลทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ผ่านการทำกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม ให้กลุ่มสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งให้เพื่อนๆได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจร่วมกัน
ศูนย์บริการแบบองค์รวม เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกลุ่มที่สามารถทำงานร่วมกับโรงพยาบาล เป็นการพลิกบทบาทจากผู้รับบริการมาเป็นผู้ร่วมให้บริการ โดยมีกระบวนการพัฒนาหนุนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับแกนนำกลุ่มจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และองค์การหมอไร้พรมแดน — เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) ในการติดตามดูแลเพื่อนที่ติดเชื้อรวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวีทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านใจ กาย สังคม ผ่านกิจกรรมการให้คำปรึกษา รวมถึงการเยี่ยมบ้านเพื่อนสมาชิกและการประชุมสมาชิกกลุ่มประจำเดือน
การมีกลุ่มที่เข้มแข็ง ย่อมเป็นรากฐานสำคัญยิ่ง ในการผลักดันเชิงนโยบาย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเช่น เมื่อปี 2542 ในกรณีสิทธิบัตรยาเม็ดดีดีไอ ของบริษัทบริสตอล ไมเยอร์ สควิปป์ หรือ บีเอ็มเอส ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสิทธิบัตรยาสามารถดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรม
การผลักดันให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2544 ที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเอดส์ร่วมกันทำงานและผลักดันอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมายาต้านไวรัสเอชไอวีก็เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
การกระตุ้นให้ภาครัฐใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ เพื่อลดการผูกขาดยาจากบรรษัทยาข้ามชาติ รวมทั้งการติดตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐในด้านสิทธิบัตรยามาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการให้เรื่องของสิทธิบัตรมาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชน และการร่วมผลักดันให้ระบบสวัสดิการของรัฐมีมาตรฐานเท่าเทียมกันทุกระบบ ที่สำคัญเราอยากให้สังคมรู้ว่า ใครๆก็สามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน รวมทั้งสร้างความเข้าใจว่า “เอดส์...รักษาได้”
ด้วยการทำงานที่ฝ่าฟันไปด้วยกันมาร่วมสิบปี ต่างก็ได้รับบทเรียนการทำงานที่ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่หล่อหลอมให้เครือข่ายเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าการเดินทางของเครือข่ายจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เนื่องจากมีอีกหลายประเด็นที่เราต้องร่วมต่อสู้ไปด้วยกันอีกมาก ทั้งการร่วมผลักดันยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรสำรอง การร่วมปฏิรูปสังคมและการเมือง ฯลฯ
แม้เป้าหมายสูงสุดไม่ได้อยู่ที่รางวัล Red Ribbon แต่ผลจากการทำงานน่าจะเป็นอีกบทพิสูจน์สำคัญในการทำงานด้านการเข้าถึงการรักษาและการป้องกันให้สาธารณชนทั่วโลกได้รับรู้ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
494 ซอยนครไทย 11 ลาดพร้าว 101 คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพ 10240
โทร. (66)2377-5065 แฟกซ์ (66) 2377-9719 E-mail : tnpth@thaiplus.net