กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
ส่วนใหญ่งานก่อสร้างบ้านเราจะเป็นงานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่วันนี้ งานก่อสร้างได้วิวัฒนาการ มีการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ใหม่ทดแทนของเดิม
การเลือกใช้เหล็กในการออกแบบ ... เทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามอง !! แม้งานก่อสร้างอาคารในเมืองไทยจะยังไม่นิยมที่จะนำเอาวัสดุเหล็กมาใช้มากมายนัก แต่ด้วยอิทธิพลทางด้านเทคโนโลยี และคุณสมบัติความคงทนของวัสดุเหล็ก ประกอบกับวัสดุก่อสร้างประเภทไม้ ที่เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ จึงน่าจะเป็นอีกเหตผลหนึ่งที่ วัสดุเหล็ก จะเป็นที่ นิยมในแวดวงก่อสร้างไทย
ยกระดับติดอาวุธให้สถาปนิก-วิศวกร
ด้วยกระแสนิยมของตลาดที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ทำให้สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้ายกระดับความรู้ด้านการออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมให้สถาปนิก วิศวกร นิสิตนักศึกษา ด้วยการจับมือ บริษัท บลูสโคปบริษัท บลูสโคป สตีล (ประเทศไทย) จำกัด ฯ ได้เชิญ ศาสตรจารย์ฟิลลิป ค็อกซ์ (Prof. Phillip Cox) สถาปนิกชื่อดัง แห่งบริษัท ค็อกซ์ กรุ๊ป พีทีวาย จำกัดจาก ประเทศออสเตรเลีย เพื่อบรรยายพิเศษการเลือกใช้วัสดุเหล็กในการออกแบบ โดยสถาปนิกชื่อดังระดับโลกพร้อมชมเทรนการออกแบบล่าสุดหวังจุดประกายความคิดงานออกแบบ ก่อสร้างให้บุคคลากรไทยก้าวไกลเทียบชั้นสากล
ศาสตรจารย์ฟิลลิป ค็อกซ์ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านการออกแบบสนามกีฬาขนาดใหญ่ และได้รับรางวัลมากมาย อาทิ การออกแบบโครงสร้าง Sydney Olympics Centre, Brisbane Exhibition and Convention Centre รวมทั้งผลงานสนามกีฬาในประเทศไทยเมื่อปี 1998 the Bangkok Asian Games Stadium and the Bangkok Asian Games Aquatic Center เป็นต้น
นายสิน พงษ์หาญยุทธ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นภาระกิจของสมาคมสถาปนิกสยามฯที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การเชิญสถาปนิกชื่อดังของโลกมาบรรยาย ถ่ายทอดประสบการณ์งานออกแบบนั้น จะช่วยจุดประกายความคิดงานออกแบบ ก่อสร้างให้บุคคลากรไทยก้าวไกลเทียบชั้นสากล
ปัจจุบันกระแสการก่อสร้างของโลกมีความก้าวหน้าด้านการก่อสร้างค่อนข้างมาก โดยเฉพาะงานออกแบบโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่มีการใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบกำลังได้รับความนิยมมาก สถาปนิก วิศวกร และบุคคลในวงการออกแบบของไทยควรต้องติดตาม เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบสร้างสรรค์ผลงานได้
ด้านศาสตรจารย์ฟิลลิป ค็อกซ์ กล่าวว่า การนำเหล็กมาใช้ในการก่อสร้างมีมากว่า 30 ปี ผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันก็คือ สถาปนิก และที่ประเทศออสเตรเลียเองก็ได้รับความนิยมมาก โดยเหล็กนั้นสามารถนำมาออกแบบก่อสร้างอาคารได้แทบทุกประเภท ทั้ง อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าและที่อยู่อาศัย เป็นต้น
เหล็กเป็นวัสดุทางเลือกในปัจจุบัน ที่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้มากขึ้น ด้วยเหตเพราะว่า วัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้มีแนวโน้มลดลง ในขณะเดียวกันเหล็กซึ่งเป็นวัดุทางเลือกนั้นก็สามารถที่จะใส่ลูกเล่น ดีไซน์ทั้งโค้ง เว้า ยื่น ซึ่งกล่าวไปแล้วเหล็กมีความยืดหยุ่นมากกว่า และตนก็เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทย สามารถที่จำนะเอาเหล็กมาประยุกต์ใช้กับงานก่อสร้างได้เหมือนกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาแลเซีย หรือกระทั่งออสเตรเลีย
การติดตาม นวัตกรรมใหม่ๆเกี่ยวกับโลกของเหล็ก อุตสาหกรรมเหล็ก การนำเอาไปประยุกต์ในการทำงาน ... เหล็ก-วัสดุสากลเพื่อการก่อสร้างหลากประเภท นั่นคือ สิ่งที่สถาปนิกชื่อดังจากออสเตรเลียรายนี้กล่าวทิ้งท้ายฝากไว้ให้คนในวงการเดียวกัน
รู้โนฮาวต่างชาติ “ทางลัด” รับมือตลาดเปิดเสรี
มีโอกาสเรียนรู้โนฮาวต่างๆ จากสถาปนิกต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้สถาปนิกไทยมีโอกาสก้าวไปทำตลาดในระดับสากลได้ นั่นคืออีกช่องทางการเรียนรู้ของสถาปนิกไทย ในยุคที่ตลาดเปิดเสรี !
นับถอยหลังไปอีกไม่เกิน 2 ปี "ออสเตรเลีย" จะเปิดโต๊ะเจรจาทวงสัญญาไทย เพื่อเปิดเสรีวิชาชีพสถาปัตยกรรม อาชีพสงวนของคนไทยมายาวนาน กำลังจะถูกกำหนดให้เปิดกว้าง ผู้ประกอบการไทยพร้อมแค่ไหนกับการเปิดบ้านรับมือต่างชาติ ยังคงเป็นคำถามที่หลายคนสนใจ
การเปิดเสรีทางการค้าของไทยกับประเทศออสเตรเลีย เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อ มกราคม 2548 ที่ผ่านมา ในรอบแรกของการตกลง ได้เปิดเสรีทางการค้าเกือบทุกรายการแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังมีสัญญาติดค้างกับรัฐบาลออสเตรเลีย เรื่อง การเปิดเสรีวิชาชีพสถาปัตยกรรม ซึ่งในรอบการเจรจาครั้งหน้า หรืออีก1-2ปี รัฐบาลออสเตรเลียจะกลับมาคุยเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง นั่นหมายความว่า สถาปนิกไทยเหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี ในการเตรียมตัวรับมือการเข้ามาของสถาปนิกต่างชาติ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลไทยไฟเขียวเปิดเสรีวิชาชีพสถาปัตยกรรมกับประเทศออสเตรเลีย จะส่งผลให้ประเทศที่รัฐบาลไทยมีสัญญาเอฟทีเออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย หรือประเทศอื่นๆ ที่ไทยเตรียมจะทำเอฟทีเอด้วยนั้น จะต้องขอสิทธิเสรีทางการค้าเหมือนกับออสเตรเลีย
แม้ที่ผ่านมาจะมีเสียงต่อต้านการเปิดเสรีในวิชาชีพดังกล่าว แต่หากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมหลายๆอย่างแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่จะทัดทานกระแสโลกเสรีได้ ด้วยเหตนี้ สิ่งที่ผู้คนในแวดวงวิชาชีพสถาปัตยกรรม จะต้องเร่งเครื่อง ทำความเข้าใจต่อสังคมไม่ว่าว่าจะเป็น สมาคมสถาปนิกสยาม และสภาสถาปนิกจะต้องเปิดใจรับข้อดี-ข้อเสียของการเปิดเสรี เพื่อชั่งน้ำหนักตัดสินใจเลือกในสิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับสถาปนิกไทยมากที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้น สถาปนิกไทยก็ควรเร่งปรับตัวรับสถานการณ์โลกเสรีไว้ล่วงหน้า จะเป็นการดีที่สุด !!!