สหมงคลฟิล์ม เสนอภาพยนตร์เรื่อง "ครูใหญ่"

ข่าวทั่วไป Monday August 7, 2006 13:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--สหมงคล ฟิล์ม
อาจารย์ใหญ่
กำหนดการฉาย 24 สิงหาคม 2549
แนวภาพยนตร์ ทริลเลอร์(ตื่นเต้นเขย่าขวัญจิตระทึก)
สร้างและจัดจำหน่ายโดย สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล
ผลิตภาพยนตร์ กานจาบฟิล์ม , บาแรมยู
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
กำกับภาพยนตร์ ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล
ควบคุมงานสร้าง ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล , ปรัชญา ปิ่นแก้ว
บทภาพยนตร์ ศักดิ์ชาย ดีนาน,ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล,อำนาจ แตงสมบูรณ์
รพีพิมล ไชยเสนะ
กำกับภาพ ชูชาติ นันทิธัญญธาดา
ออกแบบงานสร้าง เสนอ เลาะวิถี
ออกแบบเครื่องแต่งกาย มนฤดี พงศ์พฤกษชาติ
ลำดับภาพ ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล,สุรศักดิ์ ปานกลิ่น
นำแสดงโดย รัน ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ , นิรุตติ์ ศิริจรรยา
บางคนอาจเคยตั้งคำถามในขณะที่หลายคนเพียงแค่สงสัย แล้วถ้าเป็นคุณหละจะทำอย่างไร
เมื่อมองยังร่างที่ปราศจากลมหายใจตรงหน้า ไม่รู้ประวัติ ไม่รู้ที่มา รู้แต่เพียงว่านี่คือร่างกายที่ไร้ชีวิตที่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ทุกคนต่างให้ความเคารพ ในฐานะ “อาจารย์ใหญ่” ครูผู้บริจาคร่างกายเป็นวิทยาทานเพื่อให้กับนักศึกษาแพทย์ทุกคนได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อนภายในร่างกายมนุษย์ และนำความรู้ที่ได้จากร่างอาจารย์ไปเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป
มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่ แต่สำหรับ ไหม (รัน ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ) แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นประสบการณ์จริงที่ชวนขนลุก ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่เธอเข้าเรียนชั่วโมงแรกของวิชากายวิภาคศาสตร์ เมื่อจู่ๆ ร่างของอาจารย์ใหญ่ที่นอนสงบนิ่งก็เงื้อมมือขึ้นมาบีบคอเธอ
เหตุการณ์ต่อจากนั้นได้สร้างความหวาดผวามากยิ่งขึ้น เมื่อเธอรู้สึกว่ามีวิญญาณของผู้หญิงที่ไม่รู้จัก คอยติดตามเธอไปในทุกที่ ตั้งแต่ชั้นเรียน ห้องน้ำ มุมมืดในห้องพัก รวมทั้งข้างตัวเธอบนเตียงนอนที่บ้าน
ในท่ามกลางความสับสน และสถานการณ์ที่กำลังเลวร้ายลง อาจารย์นายแพทย์ประกิต (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ดูเหมือนจะเป็นคนเดียวที่แสดงความห่วงใยไหม และตัดสินใจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกศิษย์คนนี้ในทุกวิถีทาง
ไหมเริ่มตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นั่นคือการค้นหาที่มาของอาจารย์ใหญ่ แต่ดูเหมือนยิ่งสาวยิ่งลึก และมีบางสิ่งที่ซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอจะต้านทานไหว บางอย่าง ที่เกี่ยวพันและเชื่อมโยงถึงผู้หญิงที่ชื่อดาหวัน กับร่างของอาจารย์ใหญ่ตรงหน้าเธอ ความจริงในด้านมืดที่ชวนขนลุก และเหตุการณ์ที่เลวร้ายในอดีตกลับมาหลอกหลอนเธอขึ้นอีกครั้ง
ประวัติผู้กำกับภาพยนตร์
ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล
คร่ำหวอดและคลุกคลีในวงการภาพยนตร์มานับสิบปี ผ่านงานในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับ เขียนบทภาพยนตร์อย่าง “เกิดอีกทีต้องมีเธอ” , “เด็กระเบิดยืดแล้วยึด” คว้ารางวัลบทสุพรรณหงส์ทองคำจาก “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” และร่วมกำกับ “เจนนี่กลางวันครับกลางคืนค่ะ” จนสามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Cinemag Spirit Award มีนอกจากนี้ยังเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง โกลคลับเกมส์ล้มโต๊ะ ร่วมกับกิตติกร เลียวศิริกุล และธนกร พงษ์สุวรรณ, “แม่เบี้ย” ร่วมกับสมจริง ศรีสุภาพ และสมภพ เวชชพิพัฒน์ ก่อนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับสุทธากร สันติธวัชกำกับ “ขวัญเรียม” และในปี 2548 ที่ผ่านมามีผลงานกำกับภาพยนตร์ เรื่อง “ก็เคยสัญญา” นอกจากนี้ยังมีผลงานกำกับละครเรื่อง “ตีลังกาท้าฝัน”ให้กับเวิร์คพอยท์ และในปี 2549 มีผลงานกำกับภาพยนตร์ในแนวเขย่าขวัญเรื่อง “อาจารย์ใหญ่”ให้กับสหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล
รายละเอียดของคาแรคเตอร์และนักแสดง
ไหม นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 หน้าตาสะสวย บุคลิกนิ่ง เงียบขรึมแตกต่างจากเด็กสาวในวัยเดียวกัน อาจสืบเนื่องมาจากการเผชิญหน้ากับบางสิ่งบางอย่างที่แม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่สามารถหาคำตอบอื่นใดจะมาสามารถอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร แต่สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วโดยมีเธอเพียงคนเดียวที่ถูกเลือกให้ต้องเผชิญ
รับบทโดย ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ
นักแสดง นางแบบสาวคลื่นลูกใหม่ ที่เริ่มต้นจากเวทีประกวดสาวแฮ็คส์ พ.ศ.2543 ก่อนที่จะมีผลงานละครออกมาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการ่วมงานกับนักแสดงมากฝีมือ อาทิ พระจันทร์แดง แสดงคู่กับ ฉัตรชัย เปล่งพานิช ตามด้วยสองผู้ยิ่งใหญ่ และ มนต์รักอสูร มีผลงานภาพยนตร์เรื่อง ผีหัวขาด ก่อนที่จะหันไปทุ่มเทกับชีวิตความเป็นนักศึกษา ปัจจุบันอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตามด้วยผลงานละครเรื่อง "วัยซนคนมหัศจรรย์” และในปีพ.ศ.2549 กำลังจะมีผลงานภาพยนตร์ของสหมงคลฟิล์มออกมา 2 เรื่องคือ วิญญาณ/โลก/คนตายและอาจารย์ใหญ่
อาจารย์นายแพทย์ประกิต อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เป็นตัวอย่างของอาจารย์ที่ใส่ใจและให้ความสนใจดูแลลูกศิษย์ ซึ่งหายากในปัจจุบัน ด้วยความห่วงใยทำให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเผชิญหน้ากับบางสิ่งบางอย่างที่ไหมจะต้องเผชิญและยากเกินกว่าที่จะสามารถอธิบายด้วยเหตุและผล
รับบทโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา
นักแสดงชายที่ได้รับการยกย่องถึงความสามารถในการแสดงระดับเป็นเลิศ ผ่านการแสดงภาพยนตร์และละครมาแล้วทุกบทบาท ในช่วงวัยหนุ่มของการแสดงเขาโดดเด่นในบทพระเอกกุ๊กกิ๊กเจ้าเสน่ห์ ปัจจุบันในฐานะรุ่นใหญ่เขาคือนักแสดงที่โดดเด่นทุกครั้งที่ปรากฏตัว ไม่ว่าจะเป็นเกย์รุ่นใหญ่ที่ต้องผิดหวังในความรักอย่าง “เพลงสุดท้าย” อดีตทหารผ่านศึกที่ถูกไสยศาสตร์ด้านมืดเกี่ยวกับการสักยันต์ครอบงำใน “มหาอุตม์” รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตที่เป็นอมตะผู้ผ่านการเข่นฆ่ามาทุกรูปแบบใน “โอปปาติกะ” และสำหรับบทอาจารย์ประกิต ใน อาจารย์ใหญ่ เราจะได้พบกับความหลากหลายทางการแสดงตั้งแต่อาจารย์แพทย์ที่เต็มไปด้วยความสุภาพและน่านับถือ ไปจนถึงฆาตกรร้ายที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อความริษยาและอาฆาตแค้น
เปิดแฟ้มบันทึกงานสร้าง “อาจารย์ใหญ่” (PRODUCTION NOTE)
จากศพ ร่างที่ไร้วิญญาณบนตึกกรอส
อาจารย์ใหญ่” ผู้เสียสละที่ให้ได้แม้แต่ร่างกายของตน
สู่ตัวอักษรแห่งบทภาพยนตร์ระทึกขวัญของผู้ชายที่ชื่อ “ดุลยสิทธิ์”
ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล ผู้กำกับ คลุกคลีอยู่ในวงการหนังไทยมากว่า 20 ปี ตั้งแต่เป็นเด็กในกองถ่าย ผู้ช่วยผู้กำกับ คนเขียนบท และกำกับร่วม กว่าจะได้มากำกับเต็มตัวในหนังเรื่อง “อาจารย์ใหญ่” เป็นเรื่องแรก รวมทั้งควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์, คนเขียนบท และลำดับภาพด้วย
ดุลยสิทธิ์เปิดเผยถึงความเป็นมาของโปรเจ็คนี้ว่า “เริ่มต้นจริง ๆ เลยมันมาจากว่า ผมอยากทำหนังซักเรื่องหนึ่งที่มันน่ากลัว ๆ แต่ก็อยากได้อะไรที่ใหม่ ๆ หน่อย อยากพูดถึงเรื่องที่คนยังไม่เคยพูดถึงในภาษาหนัง ผมก็เลยคิดไปว่ามีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกกลัวได้บ้าง ผมก็คิดไปถึงศพ ผมว่าศพเนี่ยมันกระตุ้นความกลัวได้ดีนะ ผมเคยไปเจอศพที่ตายตามท้องถนนที่เขาคุมผ้าไว้ ผมก็รู้สึกกลัว ผมก็เลยคิดไปถึงสถานที่ซักที่ที่มันจะมีศพมารวมกันเยอะ ๆ ผมก็เลยนึกไปถึง ตึกกรอส(GROSS ANATOMY) เริ่มแรกผมคิดแค่นั้นเอง ผมยังไม่ได้คิดไปถึงอาจารย์ใหญ่ พอเราเริ่มรีเสิร์ทเรื่องตึกกรอสเราถึงไปพบเรื่องของอาจารย์ใหญ่ ซึ่งผมก็รู้สึกประทับใจที่ว่า เขาบริจาคร่างกายเขาเองให้กับคนอื่น โดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ผมรู้สึกว่ามันเป็นการเสียสละจริง ๆ เขาตายไป สิ่งที่เขาให้ได้ก็คือร่างกายเขา ซึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไปมาก ผมก็เลยสนใจอยากจะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูด มาเล่า ให้คนได้รับรู้ว่า มันมีการเสียสละที่ยิ่งใหญ่แบบนี้อยู่บนโลกนี้นะ”
และด้วยความที่เป็นคนกลัวผี เขาจึงอาศัยจินตนาการจากความกลัวของตัวเอง มาแต่งเติมเรื่องราว และสถานการณ์ต่าง ๆ ลงไปในบท “มันมาจากความคิดและเรื่องเล่าของคนหลาย ๆ คน บางทีการคุยกับคนโน้นคนนี้ แล้วต่างคนก็ต่างมีประสบการณ์เรื่องผี หรือประสบการณ์การดูหนังผี ทุกคนก็จะเอาความกลัว เอาจินตนาการของแต่คน มาแชร์กันอย่างละนิดละหน่อย อย่างผมจะกลัวการเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น ผมกลัวว่าผมเดินไปที่ไหนซักที่แล้วผมเห็นอยู่เดียว ผมจะกลัวความรู้สึกแบบนี้มาก ผมก็จะเอามาใส่ในบท ผมคิดว่าถ้าตัวละครได้เจออะไรแบบนี้คงจะน่ากลัว”
เมื่อความกลัวมาบวกกับจินตนาการ และเข้ามารู้สึกอยู่ในประสบการณ์ของคนทำหนังอย่างดุลยสิทธิ์ การดึงเอาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนแพทย์กับสิ่งเร้นลับที่พิสูจน์ไม่ได้ คือเสน่ห์ของความขัดแย้งที่ลงตัวที่ถูกถ่ายทอดลงมาในหนัง
“ผมไม่ได้คิดถึงความขัดแย้งของศาสตร์ 2 ศาสตร์นี้เลยในตอนแรก แต่พอไปลงรายละเอียดแล้ว ผมก็พบว่ามันมีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่างวิทยาศาสตร์กับสิ่งที่หาคำตอบไม่ได้ แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นเสน่ห์ ผมไม่รู้ว่านี่มันเป็นเรื่องของเทคนิครึเปล่านะ แต่ผมคิดว่ามันเป็นการดำน้ำไปเจอมากกว่า แล้วก็รู้สึกว่ามันเอามาเล่นได้ในเรื่อง ตอนที่ผม Research ผมก็ไปถามคนที่ผ่าอาจารย์ใหญ่ว่า Anatomy มันมีเป็นเรื่องของอวัยวะ หัวใจ ปอด ตับ แต่ Anatomy มันไร้ชีวิต ถ้ามันจะมีชีวิตมันต้องมีวิญญาณ ผมก็เลยถามเขาว่า แล้ววิญญาณอยู่ตรงไหน ในร่างกายของคนเราเนี่ยวิญญาณอยู่ตรงไหน เขาก็หัวเราะ นึกว่าผมพูดเล่น แต่ผมถามจริง ๆ ผมอยากรู้จริง ๆ แต่ก็ไม่มีใครตอบผมได้ ผมเลยรู้สึกว่า เออเนี่ยแหละที่มันเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ก็เลยมีฉากหนึ่งในหนังที่นางเอกมันเชื่อว่ามันถูกผีหลอก แต่มันเป็นหมอ มันเป็นนักวิทยาศาสตร์ คณบดีก็เลยบอกว่า เราเป็นคนในสังคมนะ คนข้างนอกคิดยังไงเรารู้ แต่ทันทีที่คุณก้าวเข้ามาในตึก ก้าวเข้ามาเป็นแพทย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว อย่าไปคิดถึงมัน อย่าไปตั้งคำถาม เรามองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็พอ ว่านี่มันคือสรีระที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา แล้วเราก็ศึกษาสิ่งเหล่านี้ เนี่ยแหละผมเลยเชื่อว่าความขัดแย้งตรงนี้มันคือเสน่ห์ ผมเชื่อว่าหมอก็คงตอบไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์ก็คงตอบไม่ได้ว่า ทำไมมีชีวิต และวิญญาณอยู่ตรงไหน”
หลังจากที่ใช้เวลา Research ข้อมูลและเขียนบทกว่า 3 เดือน ก็เข้าสู่กระบวนการของการตามหานักแสดง ซึ่งตัวละครสำคัญที่อุ้มหนังไว้ทั้งเรื่องก็คือ “ไหม” นางเอกของเรื่อง ซึ่งออกแทบจะทุกฉาก แต่สุดท้ายบทก็มาถึงมือ รัน ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ ที่ก่อนหน้านี้หลายคนอาจเคยผ่านตามาแล้วกับงานละครอย่าง“พระจันทร์แดง” แสดงคู่กับ นก ฉัตรชัย “สองผู้ยิ่งใหญ่” แสดงคู่กับ วิลลี่ และเสนาหอย “มนต์รักอสูร” ที่แสดงคู่กับ จอนนี่ แอนโฟเน่ กำกับโดย อาเปี๊ยก พิศาล และภาพยนตร์อย่าง “ผีหัวขาด” ในชื่อ นพวรรณ รัน แต่กลับมาครั้งนี้ที่หันมาเอาดีกับงานภาพยนตร์อย่างเต็มตัวพร้อมชื่อใหม่อีกครั้ง
“ตอนแรกก็มีการพูดถึงหลาย ๆ คน แล้วบังเอิญไปเจอรันที่บาแรมยู แล้วก็คุยกับพี่ปรัชญา พี่เขาก็บอกว่า เออ ลองไปแคสต์ดูก็ได้ แล้วพอแคสต์ก็ชอบเลย เรามองเห็นศักยภาพ แอ๊คติ้งเขา เรื่องสมาธิ เรื่องการแสดง เรื่องความตั้งใจ คิดว่าน่าจะร่วมงานกันได้ เพราะโดยพื้นฐานเขาเป็นคนมีความตั้งใจ ความต้องการเขามันน่าทำงานด้วย ไม่ได้นึกถึงเรื่องความเป็นดาราเลย ซึ่งพอได้ทำงานกับรันแล้วก็รู้สึกดี รันดี ผมแฮปปี้มาก ๆ เลย ถ้ามีโอกาสก็อยากจะร่วมงานกันอีก เขาเป็นคนมีความตั้งใจดีมาก ๆ แล้วการแสดงของเขาก็แสดงออกมาได้อย่างใจต้องการทุกอย่างเลย คือเป็นไหมที่เราต้องการเลย”
การพลิกบทบาทครั้งสำคัญของ “รัน” กลับมาอีกครั้งกับหนัง “อาจารย์ใหญ่
ห่างหายจากวงการบันเทิงไปกว่า 2 ปี วันนี้รันกลับมาพร้อมความเป็นสาวเต็มตัว และชื่อเสียงเรียงนามใหม่ว่า ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ กับภาพยนตร์ที่เธอบอกว่าเป็นการพลิกบทบาทของเธอโดยสิ้นเชิง อย่าง “อาจารย์ใหญ่
“ในเรื่องนี้รันรับบทเป็น ไหม ค่ะ ไหมก็จะเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ซึ่งตัวเขารันมองว่าแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกก็คือก่อนเกิดเหตุการณ์ เขาก็จะเป็นผู้หญิงปกติแหละ มีความสนุกสนาน ร่าเริง เหมือนผู้หญิงทั่วไป แล้วเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ทำให้เขากลายเป็นผู้หญิงอีกคนนึงที่มีความสับสนในตัวเองตลอดเวลา จะมีความกังวล ความผิดหวัง ความเศร้า และค่อนข้างโดดเดี่ยว ไหมเขาจะเป็นคนที่ค่อนข้างหลอน ๆ ค่ะ มักจะเห็นภาพอะไรที่คนอื่นไม่เห็น แล้วก็จะมีความเหงา ความเศร้าต่าง ๆ นานา มาทำให้เขาต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นการพลิกคาแรคเตอร์เลยค่ะ สำหรับรันนะ มันพลิกหลาย ๆ อย่าง ทั้งการแต่งกาย ทรงผม บุคลิก การแสดงออก ทั้งหมดเลยอ่ะค่ะ มันเปลี่ยนไปหมดเลย”
นอกจากการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของรันแล้ว ไหม ตัวละครที่เธอต้องรับบทนั้น เป็นตัวละครที่ต้องออกเกือบทุกฉาก อุ้มหนังไว้ทั้งเรื่อง จึงถือเป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้รันได้แสดงความสามารถของเธอออกมาอย่างเต็มที่
“หนักมากค่ะสำหรับเรื่องนี้ คือรันค่อนข้างที่จะถ่ายคนเดียวเกือบทั้งซีนอยู่แล้ว บางทีก็เหนื่อยมากเพราะว่าเราไม่สามารถเลือกได้ว่าเอาซีนไหนไปต่อตรงไหน หรือเอาซีนนี้ไว้หน้าไว้หลัง มันก็จะมีอารมณ์ที่แบบว่า ซีนหนัก ๆ มาต่อกัน หรือการสลับถ่ายซีนหลังก่อนแล้วมาซีนหน้า มันทำให้เราเครียด นอกจากจะเครียดกับบทแล้ว เรายังต้องเครียดกับการที่ต้องควบคุมอารมณ์ให้มันต่อเนื่องด้วย เราต้องมีการแบ่งอารมณ์เป็นระดับ ซีนนี้มันควรจะกลัวขนาดไหน ท้ายเรื่องแล้วเราควรจะกลัวเท่านี้มั้ย เพราะตัวละครตัวนี้มันจะมีพัฒนาการทางอารมณ์ไปเรื่อย ๆ ซึ่งสำหรับรันมันก็หนักมาก เพราะเราต้องทำให้คนดูเชื่อว่าตัวละครตัวนี้มันมีการพัฒนาไปตามเหตุการณ์นะ อารมณ์ของมันเปลี่ยนแปลงนะ แต่มันก็ทำให้รันพัฒนาฝีมือการแสดงของรันไปด้วยค่ะ ตอนแรกเนี่ย รันยังปรับอะไรไม่ค่อยได้ รันยังจับคาแรคเตอร์ของตัวละครไม่ได้ รันก็ใช้วิธีคุยกับผู้กำกับเยอะ ๆ ว่าพี่เขาต้องการแบบไหน พี่เขารู้สึกว่าคาแรคเตอร์ไหมควรจะเป็นแบบไหน ทำไมไหมถึงพูดคำพูดนี้ออกมา คือเราจะคุยกันทุกประโยคว่า ประโยคนี้ไหมพูดเพราะเขารู้สึกอะไร แม้ว่าเราจะมีการ workshop มาแล้ว แต่รันคิดว่าการคุยกับผู้กำกับมันทำให้เราเข้าใจตัวละครมากขึ้นไปอีก เพราะการ workshop กับการมาแสดงหน้ากล้องจริง ๆ มันไม่เหมือนกัน เราต้องมีการคุยเพื่อทำการบ้าน แล้วนอกจากทำการบ้านที่บ้านแล้ว ก็ต้องมาทำในกองด้วย คือรันต้องปรับเยอะเลย เพื่อแสดงออกมาให้เป็น ไหม น่ะค่ะ”
จากที่ต้องพยายามปรับตัวเข้าหาบุคลิกนิสัยของตัวละครอย่าง ไหม รันยังต้องเรียนรู้ถึงท่าทางการแสดงออกของนักเรียนแพทย์ในห้องเรียนเพื่อความสมจริงอีกด้วย
“รันก็จบนิเทศฯมา ไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับนักเรียนแพทย์เลย ว่าเขาเรียนอะไรยังไงกันบ้าง แต่ในเรื่องเนี๊ยะตัวของ “ไหม” เขาก็เป็นคนที่ใหม่ในการเรียนผ่าศพเหมือนกัน รันก็เลยไม่ต้องลึกลงไปในรายละเอียดของวิธีการผ่า รันก็จะไปค้นหาข้อมูลคร่าว ๆ ประเภทว่า นักศึกษาแพทย์บุคลิกเขาจะเป็นยังไง อ่านหนังสือแบบไหน เวลาเรียนเขาจะทำอะไรบ้าง เวลาจะผ่าศพต้องใส่ถุงมือแบบไหน ใส่ผ้าครอบยังไง จับอาจารย์ใหญ่แบบไหน เหมือนว่าหาข้อมูลในเรื่องของภายนอกเพื่อให้การแสดงออกมาสมจริงน่ะค่ะ”
ในเรื่องนี้มีตัวละครอีกตัวที่จะขาดการพูดถึงไปไม่ได้ ก็คือ “อาจารย์ประกิต” ตัวละครที่สร้างสีสันให้กับเรื่องไปไม่น้อยกว่า “ไหม” เลย ซึ่งได้ อาหนิง นิรุตติ์ ศิริจรรยา นักแสดงเจ้าบทบาทที่ทุกคนยอมรับมารับบทเป็นตัวละครตัวนี้ ทำให้เป็นอีกครั้ง ที่รันได้ประกบกับนักแสดงมากฝีมือ หลังจากที่เคยแสดงคู่กับ นก ฉัตรชัย , วิลลี่ แมคอินทอช และ จอนนี่ แอนโฟเน่มาแล้ว ซึ่งรันก็ยอมรับว่า เธอเองก็เกร็งไม่น้อยทีเดียว
“แรก ๆ รันก็จะเกร็งค่ะ อาหนิงเป็นบุคคลที่เก่งมาก ๆ คือเขาจะไม่ได้มาบอกรันว่ารันต้องเล่นยังไง อาหนิงเขาจะมองว่ารันโตแล้ว เรียนรู้อะไรมาบ้างแล้ว แต่สิ่งที่รันเรียนรู้มาจากอาหนิงก็คือ การแสดงของอาหนิงเนี่ยแหละ การที่อาหนิงช่วยส่งอารมณ์ให้รัน ทำให้รันอินด้วย มันทำให้รันเห็นพลังการแสดงอ่ะค่ะ โดยเฉพาะรันประทับใจฉากจบของเรื่องที่เล่นกับอาหนิงมากค่ะ เพราะรู้สึกว่าอาหนิงเล่นเต็มที่ รันก็เล่นเต็มที่ แล้วอีกอย่างมันก็เป็นฉากที่เราได้แสดงอารมณ์เต็มที่ด้วย มันต้องมีแอ๊คชั่นดุเดือดด้วย รันก็เล่นเต็มที่โดยไม่เซฟตัวเองเลย แต่อาหนิงเขาก็จะคอยเซฟให้รัน อาหนิงเขาจะคอยแนะนำตลอด แล้วรันก็รู้สึกว่า ฉากนี้คนดูก็น่าจะชอบแล้วอินไปกับเราด้วย เพราะขนาดรันแสดงเองรันยังอินไปด้วยเลย”
นิรุตต์ชื่นชม “อาจารย์ใหญ่
อีกหนึ่งความต่างที่ชวนหวาดระทึก
กับ “อาจารย์แพทย์ประกิต”อีกหนึ่งคาแรคเตอร์ที่ห้ามกระพริบตา
นิรุตติ์ ศิริจรรยา นักแสดงรุ่นใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยฝีมือ ได้เข้ามาเป็นตัวละครสำคัญอีกตัวของภาพยนตร์เรื่อง “อาจารย์ใหญ่” นั่นคือ“อาจารย์ประกิต” ซึ่ง ดุลยสิทธิ์ เปรียบตัวละครตัวนี้เสมือนพระเอกของเรื่อง
“ในบทตัวละครตัวนี้จะเป็นพระเอก เราก็จะคิดถึงพระเอกที่อายุน้อยกว่านี้ แต่วันหนึ่งมีคนพูดถึงอาหนิงขึ้นมา แล้วทุกคนก็ชอบ ก็เลยนัดอาหนิงมานั่งคุย อาหนิงก็โอเคเล่น ตัวละครของ “อาจารย์ประกิต” ก็เลยเปลี่ยนจากที่เราคิดว่าจะเป็นวัยรุ่นหน่อย แต่พอมีอาหนิงเข้ามาผมก็รู้สึกว่าดีนะ เพราะมันก็ยิ่งทำให้หนังดูมีอะไรมากขึ้นด้วย ซึ่งอาหนิงเขาเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว”
โดยตัวของอาหนิงเอง ก็ได้พูดถึงตัวละครอย่าง “อาจารย์ประกิต” ที่ตนรับบทไว้ว่า
“คาแรคเตอร์ของอาจารย์ประกิตเป็นอาจารย์ที่สุขุม รอบคอบ มีความคิด เขาควบคุมอารมณ์และสติได้ แล้วก็มองเห็นเรื่องของการตายเป็นเรื่องธรรมดา ก็คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย และไม่เชื่อเรื่องของผีหรือวิญญาณ ตัวอาจารย์ประกิตกับผม คงไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ว่าเหมือนหรือต่างกัน เพราะผมคิดว่านักแสดงทุกคนไม่ควรเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับตัวละคร มันเป็นเรื่องของว่าเราได้รับบทอะไร แล้วเราจะต้องศึกษาและทำตัวให้เข้ากับเนื้อเรื่อง ให้เข้ากับบท ให้เข้ากับบุคลิกของตัวละคร ซึ่งเราต้องเข้าใจให้มาก และทำบุคลิกของเราให้เป็นตัวละครนั้นให้ได้”
และด้วยความเป็นมืออาชีพ อาหนิงก็สามารถเป็นอาจารย์ประกิตได้ตามจินตนาการที่วางไว้ของผู้กำกับอย่างดุลยสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังกล่าวชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทิ้งท้ายไว้ด้วย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ตามที่ผมได้อ่านบททั้งเรื่องแล้ว คิดว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีเรื่องหนึ่งที่แตกต่างจากภาพยนตร์แนวนี้ทั่ว ๆ ไป โดยตามบทภาพยนตร์ที่ได้อ่านจนจบทั้งเรื่อง เหตุที่กล้าพูดคำนี้ก็เพราะว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังผีที่ไม่ได้มีผีออกมาหลอก ไม่ได้เป็นเรื่องของตลกที่ไม่มีสาระ แต่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นบทภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษา เกี่ยวกับเรื่องของความเป็นจริง มันอาจจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงในชีวิตจริง ๆ ของเราก็ได้”
ตลอดการถ่ายทำ “อาจารย์ใหญ่” ต้องมีการไปถ่ายสถานที่จริงด้วย อย่างในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และบ่อดอง ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยกลิ่นของน้ำยาต่าง ๆ เรียกได้ว่ากลายเป็นของแถมติดเสื้อผ้ากลับไปฝากคนที่บ้านกันแทบทุกวัน ซึ่งนี่ก็กลายเป็นสิ่งที่ประทับใจที่ผู้กำกับอดใจที่จะพูดถึงไม่ได้
“ผมรู้สึกประทับใจคือ กลิ่น ด้วยความที่หนังเรามันเป็นหนังของนักเรียนแพทย์ เกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่ มันก็จำเป็นจะต้องมีการถ่ายทำที่ห้องเรียน Anatomy หรือแม้กระทั่งบ่อดองซึ่งสำหรับดองอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเราไปถ่ายกันในสถานที่จริงด้วยไง มันก็เลยมีเรื่องของกลิ่นเข้ามา มันเหมือนเวลาที่เราเข้าไปในโรงพยาบาลน่ะ มันจะมีกลิ่นยา อันนี้ก็เหมือนกัน เราต้องไปอยู่ท่ามกลางฟอร์มาลิน กลีเซอรีน ครั้งแรกที่เปิดประตูเข้าไปในห้องผ่าศพ พอเปิดประตู กลิ่นก็จะมาปะทะ เราก็จะรู้เลยว่านี่คือกลิ่นศพ เรารู้สึกถึงกลิ่นศพได้อย่างใกล้ชิด เมื่อเข้าไปก็จะเห็นทุกอย่างที่เป็นบรรยากาศหมด เห็นอาจารย์ใหญ่นอนอยู่บนเตียงอะไรแบบนั้น คือบรรยากาศมันให้หมดเลย เนี่ยอันนี้ผมรู้สึกว่ามันโดนสุด ๆ ความรู้สึกของกลิ่น”
ประสบการณ์และความทรงจำมากมายคงฝังอยู่ในหัวใจทีมงานทุกคน รวมไปถึงกลิ่นที่แค่พูดถึงก็ระลึกได้ถึงรสสัมผัส ในวันที่ “อาจารย์ใหญ่” กลายเป็นภาพยนตร์พร้อมออกสู่สายตาประชาชน ร่างที่ปราศจากลมหายใจของอาจารย์ใหญ่ในห้องเรียนทุกร่าง ก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้ให้ ผู้ประศาสน์วิชาความรู้แก่นักเรียนแพทย์ทุกคนอยู่ต่อไป จากรุ่นสู่รุ่น...
ในวันนี้ นอกจากนักเรียนแพทย์จะได้ซาบซึ้งกับคุณความดีของ “อาจารย์ใหญ่” แต่เพียงเท่านั้น ดุลยสิทธิ์ ก็อาสาที่จะเป็นคนถ่ายทอดการให้ที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่ออกสู่สายตาประชาชน ให้ร่วมรับรู้ถึงกุศลบุญที่มอบจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรู่นต่อ ๆ ไป
“ ผมอยากให้คนได้มารับรู้เรื่องของอาจารย์ใหญ่ เรื่องของคนที่เสียสละร่างกายตัวเองเพื่อการศึกษา จากวันที่ผม Research มาจนถึงวันนี้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ผมรู้สึกว่าดีจังที่มีการเสียสละแบบนี้ ผมก็เลยอยากให้คนได้มารับรู้ ส่วนในเรื่องของความสนุกตื่นเต้นในหนังมันก็จะมีการเพิ่มเรื่องของมุมมองที่มากขึ้นจากหนังแนวระทึกขวัญทั่วไป ผมคิดอย่างงั้นนะ เรื่องที่เล่ามันเป็นเรื่องลึกลับ ชวนให้ติดตามตัวละครไปตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องจนท้ายเรื่อง สิ่งที่ผมคาดหวังก็คืออยากให้คนดูเอาใจช่วยตัวละครให้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ”
และ รัน นางเอกผู้เป็นตัวแทนอีกคนที่ได้ร่วมรับรู้การกระทำที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เธอแสดงบทบาทที่เธอได้รับอย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาดี และเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
“เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของอาจารย์ใหญ่ผู้ซึ่งอุทิศร่างกายให้กับนักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา รันคิดว่ามันเป็นกุศลมาก ๆ เลยกับการอุทิศร่างกายโดยที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนอะไรเลย รันอยากให้ทุกคนได้รู้ว่าก่อนที่เราจะมีท่านอาจารย์ใหญ่ขึ้นมา เราต้องมีกระบวนการอะไรบ้าง มีความเป็นมายังไง ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็มีเรื่องราวของท่านอาจารย์ใหญ่เป็นหลัก ๆ อยู่แล้ว รันอยากให้ทุกคนได้สัมผัสการเสียสละที่ยิ่งใหญ่นี้ แล้วนอกจากนั้น เนื้อเรื่องของหนังเรื่อง “อาจารย์ใหญ่” ก็มีความน่าสนใจ มีทั้งความน่ากลัว ความลึกลับน่าค้นหา และสิ่งเร้นลับที่อธิบายไม่ได้รวมอยู่ด้วย และตัวรันเองก็เปลี่ยนคาแรคเตอร์ไปเลย คิดว่าทุกคนจะไม่เคยเห็นรันในคาแรคเตอร์แบบนี้แน่ ๆ อยากให้ทุกคนลองติดตามชมกันนะคะ”
“บ่อดอง” โลเคชั่นสุดโหด
ที่โอดครวญกันตั้งแต่ความลำบาก ไปจนถึงความน่าสะพรึงกลัว
บ่อดอง โลเคชั่นที่ใคร ๆ ก็ต้องเอ่ยถึง เมื่อพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง “อาจารย์ใหญ่” ถ้าประกอบเหตุผลด้วยเรื่องของบท บ่อดองก็เป็นฉากสำคัญของเรื่องที่จะบอกเล่าเรื่องราวทุกอย่าง ถ้าประกอบเหตุผลด้วยเรื่องของสถานที่ บ่อดองที่ใช้ถ่ายก็เป็นสถานที่จริงที่ชวนให้ขนลุก แต่หากประกอบเหตุผลด้วยเรื่องของการทำงาน บ่อดองก็เป็นโลเคชั่นที่ถ่ายทำยากที่สุด
“ฉากที่ประทับใจที่สุด และเหนื่อยที่สุด คงเป็นการทำงานในโลเคชั่นบ่อดอง เพราะมันแคบ อากาศถ่ายเทไม่ได้ มันเป็นห้องซึ่งตัน มีพัดลมตัวเล็ก ๆ อยู่ไม่กี่ตัว แล้วทีมงานก็ไปอัดอยู่ในนั้น ทั้งไฟ ทั้งกล้อง แล้วเราต้องอยู่ในนั้น 1วัน1คืน แล้วก็อีก 1วัน1คืน ทุกคนจะร้อน สื่อสารกันลำบาก เพราะมีบางพวกที่ต้องอยู่ข้างนอก เพราะว่าเข้าไปไม่ได้ เวลาคุยกันต้องใช้วอเพราะสื่อสารกันไม่ได้ รู้สึกว่าลำบาก เราเอาอุปกรณ์เข้าไป พื้นที่ให้ยืนก็แทบจะไม่มี มันเป็นน้ำ มันก็จะมีพื้นที่ไม่เยอะ แล้วก็ฉากในนั้นก็จะมีบางส่วนที่เป็นแอ๊คชั่นด้วย มันก็ต้องการพื้นที่เยอะ ถ้ารู้สึกว่าจะจดจำความรู้สึกการทำงานได้เยอะที่สุดก็คงเป็นเรื่องในบ่อดอง” ผู้กำกับ ดุลยสิทธิ์ พูดถึงบ่อดอง ด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่บรรยาถึงความลำบากในการถ่ายทำ ในห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ภายในแออัดไปด้วยบ่อที่แบ่งเป็นล็อค ๆ ที่มีเพียงทางเดินตรงกลาง และทางเดินริมด้านข้างเท่านั้นที่พอจะยืนได้
เช่นเดียวกับรัน นางเอกที่จะต้องแสดงฉากแอ๊คชั่นในสถานที่ที่ลำบากในการทำงานเช่นนี้ เธอพูดถึงบ่อดองในมุมมองของเธอว่า “ฉากบ่อดอง ทั้งกลิ่นทั้งบรรยากาศมันน่ากลัวมากค่ะ คือในเรื่องมันจะต้องมีการดึงศพขึ้นมาจากบ่อ แล้วก็มีแอ๊คชั่นที่รันจะต้องกระโดดไปอยู่บนฝา ซึ่งเป็นฝาไม้ที่ปิดท่านอาจารย์ใหญ่ไว้ แล้วรันต้องขึ้นไปอยู่บนฝาไม้นั้นแล้วก็วิ่งข้ามไปข้ามมา ซึ่งก่อนถ่ายเนี่ยเราก็ต้องไหว้ก่อนเพราะมันเป็นสถานที่จริง รันกลัวว่าจะไปลบหลู่เขา เราไปวิ่ง ๆๆๆ บนเขารึเปล่า รันก็จะยกมือไหว้ตลอดเลย การอยู่ในสถานที่จริงมันทำให้เราเคารพเขา แล้วมันก็นำตัวเราเข้าสู่เหตุการณ์จริง เหมือนกำลังดองศพอยู่จริง ๆ”
เรื่องราวที่ถ่ายทอดเป็นภาพที่ออกมาในหนัง จะตื่นเต้น น่ากลัวและสมจริงแค่ไหน คงต้องตามไปดูกันในโรงภาพยนตร์ กับฉาก “บ่อดอง”
อาจารย์ใหญ่” การเดินทางครั้งสุดท้ายของร่างที่ไร้ชีวิต
สู่คูณปการอันยิ่งใหญ่แห่งการถ่ายเทองค์ความรู้
จากทุกอณูแห่งโครงสร้างของสิ่งที่ถูกเรียกขานว่า “มนุษย์”
หลายคนอาจเข้าใจว่า “การเกิด” และ “การตาย” คือจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของสิ่งมีชีวิต แต่มีบุคคลอยู่กลุ่มหนึ่งต่างยึดถือ เรียนรู้ และเข้าใจกันดีว่า หลายๆครั้งที่ “การมาถึงของร่างที่หมดลมหายใจ” นั้นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ การเดินทางที่ว่ากันว่าไม่เพียงยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยคุโณปการอันหาสิ่งใดเปรียบเปรยได้ เพราะนี่คือครั้งสุดท้ายที่ร่างอันไร้ลมหายใจกำลังมอบกุศลทานครั้งสำคัญให้กับทุกชีวิตที่ยังคงดำเนินอยู่บนโลกใบนี้ การถ่ายเทองค์ความรู้จากทุกอณูแห่งโครงสร้างของสิ่งที่ถูกเรียกขานว่า “มนุษย์” ที่เหล่าบรรดานักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ต่างรัก เคารพและรู้จักเป็นอย่างดีในนามของ “อาจารย์ใหญ่
ทันทีที่อายุขัยของชีวิตหมดสิ้นลง ร่างทุกร่าง
ที่ได้แจ้งความจำนงในการอุทิศให้เป็นอาจารย์ใหญ่เสียชีวิตลง การเริ่มต้นในขั้นตอนการเข้าสู่การเป็นอาจารย์ใหญ่ของจากเจ้าของร่างที่ได้แจ้งความจำนงในการมอบอุทิศร่างกายให้เป็นอาจารย์ใหญ่กว่าที่ร่างของ “อาจารย์ใหญ่” จะเดินทางมาถึงโต๊ะเรียนของนักศึกษาแพทย์ปี 2 ทุกคนได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และถือเป็นการเดินทางที่อยู่ระหว่างเส้นของวิทยาศาสตร์และสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เรื่องจริงของกระบวนการ กับเรื่องเล่าที่ผ่านความรู้สึก ล้วนแตกต่างกัน มีเพียงสิ่งเดียวที่คาบเกี่ยวกัน ก็คือ ความยิ่งใหญ่ของกุศลกรรมที่ร่างทุกร่างมอบเป็นวิทยาทานให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่ใครจะรู้ว่า กว่าที่จะมาเป็น “อาจารย์ใหญ่” ได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการใด ๆ มาบ้าง
1. ทันทีที่ผู้มีจิตศรัทธาตัดสินใจบริจาคร่างกายเพื่อเป็นกุศลทาน ทางโรงพยาบาลที่รับบริจาคจะให้ผู้บริจาคเซ็นพินัยกรรมมอบร่าง และมอบเอกสารพินัยกรรมนั้นเป็นหลักฐาน เพื่อให้ญาติ ๆ ได้รับรู้ ทางโรงพยาบาลจะมีบัตรมอบให้ผู้บริจาคพกติดตัวตลอดเวลา เผื่อว่ากรณีฉุกเฉิน
2. เมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตลง ทางญาติควรจะโทรมาแจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็วที่สุด เพื่อเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปตรวจเช็คสภาพศพว่าสามารถใช้ในการเรียนได้หรือไม่ มีอวัยวะอยู่ครบหรือไม่ มีโรคติดต่อร้ายแรงหรือไม่ หากผ่านเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่จะจัดการฉีดน้ำยาคงสภาพศพเพื่อไม่ให้ศพแข็งตัว หลังจากนั้นญาติก็จะสามารถนำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ภายใน 3-5 วัน แต่มีข้อแม้ว่าจะไม่มี “การมัดตราสังข์” เพราะจะทำให้ศพผิดรูปจากลักษณะปกติ นั่นเท่ากับว่าทุกร่างที่เป็น “อาจารย์ใหญ่” จะไม่มีพิธีกรรมที่เชื่อว่าเป็นการสะกดวิญญาณอย่างการมัดตราสังข์เกิดขึ้น
3. เมื่อการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้นลง เจ้าหน้าที่จะมารับศพ เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ โดยเริ่มจากการตัดผมศพให้สั้น ฉีดน้ำยาชนิดพิเศษเพื่อให้ผิวหนัง และอวัยวะต่าง ๆ คงสภาพ ก่อนที่จะนำมาทำความสะอาด และนำเข้าสู่กระบวนการดองต่อไป
4. สถานที่ที่เรียกว่า “บ่อดอง” ถือเป็นที่ที่เรียกได้ว่าเป็นสถานที่แปรสภาพจากร่างไร้ชีวิตให้กลายเป็น “อาจารย์ใหญ่” อย่างสมบูรณ์ ร่างทุกร่างจะต้องถูกนำลงแช่ในบ่อน้ำยายาวนานกว่า 6 เดือน — 1 ปี เลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อให้น้ำยาต่าง ๆ ซึมซาบเข้าสู่ทุกอณูของร่างกาย เพื่อคงสภาพอวัยวะทุกส่วนให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไป
5. เมื่อครบตามกำหนดเวลา ร่างก็จะถูกนำขึ้นมาทำความสะอาด และประกอบพิธีกรรมเพื่อขอขมา ก่อนที่จะนำมาทาน้ำยากันเชื้อรา แล้วเดินทางขึ้นสู่โต๊ะเรียน “อาจารย์ใหญ่
6. กระบวนการหรือขั้นตอนในการศึกษาชิ้นส่วนร่างกาย “อาจารย์ใหญ่” ของเหล่านักศึกษาแพทย์ จะเริ่มต้นทำการศึกษาตั้งแต่ หน้าอก ช่องท้อง ระบบสืบพันธุ์ เรื่อยไปจนถึงบริเวณส่วนศรีษะซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย ซึ่งขณะเรียนส่วนเหล่านี้จะห้ามเปิดหน้า “อาจารย์ใหญ่” ดูก่อน จนกว่าจะเรียนไปถึงศีรษะ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย นักศึกษาจึงจะสามารถเห็นหน้า “อาจารย์ใหญ่” ได้
7. หลังจากจบการศึกษาใน 1 ปี ของนักศึกษาแพทย์ปีที่ 2 ชิ้นส่วนทุกส่วนของ “อาจารย์ใหญ่” แต่ละร่าง จะถูกรวบรวมและนำมาประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพในทุก ๆ ปี และญาติของ “อาจารย์ใหญ่” ก็จะได้รับอัฐิของอาจารย์กลับไป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ