สมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อประกาศห้ามโฆษณา ชี้ไม่ถูกต้อง ไม่เท่าเทียม ไม่ชัดเจน

ข่าวทั่วไป Thursday October 19, 2006 08:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน
“สมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ” แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อประกาศของอย. ในการห้ามโฆษณา ชี้ไม่ถูกต้อง ไม่เท่าเทียม ไม่ชัดเจน พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมและให้ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด มิใช่การทำลายบรรยากาศการลงทุนและการท่องเที่ยวของประเทศ
นายบุญช่วย ทองเจริญพูลพร เลขาธิการสมาพันธ์เพื่อช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เปิดเผยว่าสมาพันธ์ฯ มีมติจะยื่นหนังสือเพื่อแสดงจุดยืนว่า สมาพันธ์ฯ ไม่เห็นด้วยต่อประกาศห้ามโฆษณาและร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเห็นว่า เป็นมาตรการที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โดยจะยื่นหนังสือให้กับ 4 กระทรวงที่รัฐบาลมอบหมายให้พิจารณาทบทวน ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งสมาพันธ์ฯ มั่นใจว่า หากรัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบของเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมจากมาตรการดังกล่าว รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้สมาพันธ์ฯ ได้เข้าไปชี้แจง
นางปวรวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า กฎห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวน 1-2 แสนร้านทั่วประเทศ จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนให้รอบคอบอีกครั้ง หากจะออกมาตรการใดที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจ ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ร่วมแสดงความคิดเห็นมากกว่านี้ ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ร่วมรณรงค์ในการส่งเสริมเครือข่ายอาหารปลอดภัยและการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับเยาวชน รวมทั้งจัดพื้นที่ในร้านเพื่อส่งเสริมการศึกษาเรื่องการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบมาโดยตลอด และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐใน การป้องกันการบริโภคแอลกอฮอล์เกินปริมาณอย่างเต็มที่ สำหรับครั้งนี้ เห็นว่ามาตรการของรัฐไม่ได้แก้ปัญหาที่ถูกจุด
นายศักรินทร์ ช่อไสว ผู้จัดการสมาคมโรงแรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การออกกฎห้ามโฆษณานี้เป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรวม และทำให้ผู้ประกอบการไม่มีความมั่นใจในการลงทุน ทั้งนี้ ภาครัฐควรให้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมแสดงความคิดเห็นก่อนการออกมาตรการ ขณะนี้โรงแรมยังไม่ทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น การจัดทำเมนูอาหารซึ่งปกติจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทจำหน่ายแอลกอฮอล์นั้นจะเป็นการผิดกฎหมายหรือไม่ โรงแรมหรือร้านอาหารจะต้องจัดทำเมนูอาหารเองและค่าใช้จ่ายในการจัดทำเป็นหลักแสนบาทต่อไปร้านอาหารจะต้องรับผิดชอบใช่หรือไม่
“เรายินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ หากแต่ภาครัฐควรศึกษาแนวทางการดำเนินการในประเทศที่ให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยวว่า มีการดำเนินการอย่างไร การออกมาตรการเช่นนี้จะเป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรวม ทั้งที่เจตนาของภาครัฐเพื่อป้องกันเยาวชนดื่มแอลกอฮอล์ ทำไมภาครัฐไม่แก้ไขให้ตรงประเด็น โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ด้านแอลกอฮอล์ศึกษาแก่เยาวชนและควรจะไปเข้มงวดในการออกใบอนุญาตแก่ร้านขายแอลกฮอล์หน้าโรงเรียนมากกว่า” นายศักรินทร์ กล่าว
นางวิมลวรรณ อุดมพร ตัวแทนผู้ผลิตผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อประกาศห้ามโฆษณาของ อย. ในครั้งนี้ เนื่องจาก
1. มีความไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการจำกัดสิทธิ์การรับรู้ข่าวสาร ทั้งในด้านของผู้ให้ข่าวสารคือ ผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ ผู้เสนอข่าวสารหรือสื่อ และผู้รับข่าวสารคือประชาชน โดยการตัดสิทธิ์มิให้ผู้ประกอบการสื่อสารข้อมูลทั้งในด้านการสื่อสารภาพลักษณ์ การจัดกิจกรรมสังคม การตลาด เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถรับรู้ข่าวสารของผู้ประกอบการได้
2. มีความไม่เท่าเทียม โดยประกาศห้ามโฆษณาได้ยกเว้นการถ่ายทอดเหตุการณ์สดจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม แม้ว่าบริษัทแอลกอฮอล์หลายบริษัทจะมีศักยภาพในการดำเนินการดังกล่าว แต่เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและก่อให้เกิด 2 มาตรฐานในการปฏิบัติ
3. มีความไม่ชัดเจน โดยภาครัฐได้ออกประกาศห้ามโฆษณาแต่ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการว่าจะปฏิบัติอะไรได้และอะไรไม่ได้
4. ไม่ปฏิบัติตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานแก้ไขปัญหาการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างไม่เหมาะสมมานานแล้ว โดยองค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาที่จะได้ผลจริงคือภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไข
“เป็นการออกนโยบายสาธารณะที่ไม่มีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างผู้ประกอบการซึ่งให้ความร่วมมือในการรณรงค์การไม่ขายแอลกอฮอล์แก่เยาวชนควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกให้เกิดการดื่มอย่าง รับผิดชอบมาโดยตลอด ภาครัฐอ้างว่าการออกประกาศนี้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม แต่หารู้ไม่ว่าภายหลังการออกประกาศนี้ นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาด้านสังคมได้อย่างตรงจุดแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น ภาวะตกงานของสาวเชียร์เบียร์ซึ่งมีกว่า 30,000 คนทั่วประเทศ การปิดตัวของร้านจัดทำป้ายโฆษณา และที่สำคัญเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจในการลงทุนในประเทศไทย”
นายวรเทพ รางชัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด กล่าวว่า กฎห้ามโฆษณาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมิใช่เฉพาะธุรกิจโฆษณา ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนไม่เคยมีการพูดคุยกัน แต่เมื่อภาครัฐได้ออกมาตรการเหล่านี้แล้ว ริชมอนเด้ก็พร้อมจะปฏิบัติตาม เพราะบริษัทฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่รณรงค์โครงการ “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทฯ นั้น ที่เห็นได้ชัดขณะนี้คือ การจัดการแข่งขันกอล์ฟ จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ คลาสสิค 2007 ซึ่งเป็นรายการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิค โดยจะจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตในเดือนมีนาคมปีหน้า จะได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะขณะนี้ได้มีการเซ็นสัญญากับนักกอลฟ์ระดับโลกการสำรองห้องพักโรงแรมในภูเก็ต การปรับปรุงสนามกอล์ฟ การจัดทำโฆษณา ซึ่งเราคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวกว่า 10,000 คนจากทั่วโลกเดินทางมาชมการแข่งขันครั้งนี้ หากการแข่งขันครั้งนี้ต้องถูกยกเลิกไป จะเกิดความเสียหายด้านรายได้ของประเทศอย่างมาก ตลอดจนชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในการเลือกประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานหรือกิจกรรมระดับโลก”
“บริษัทฯ เห็นว่า ภาครัฐควรจะพิจารณาและทบทวนมาตรการต่างๆ ให้รอบคอบ ซึ่งจากกรณีศึกษาในต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาจะเห็นว่าควรจะต้องมี 3 วิธีในการดำเนินการ คือ
1. การปลูกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมในสังคม เพื่อให้เห็นว่า การบริโภคแอลกอฮอล์อย่างไม่รับผิดชอบเป็นสิ่งที่ผิด
2. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งในต่างประเทศ การเมาแล้วขับจะต้องถูกจำคุก แต่ของเราทำเป็นเทศกาลเท่านั้น
3. การใช้ระบบภาษีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันระบบภาษีของไทยยังมีช่องว่าง โดยในประเทศใน อียูนั้นใช้ระบบภาษีตามเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนการบริโภคแอลกอฮอล์ได้ ผมเกรงว่า การออกกฎห้ามโฆษณานี้จะกลายเป็นการผลักดันให้เกิดการลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะผิดเจตนารมณ์ของการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคมในระยะยาวเลย” นายวรเทพ กล่าวในตอนท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
สมาพันธ์เพื่อช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (FACT)
โทร :0 2559 0252-4 โทรสาร: 0 2559 0256
อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
วราพร / สาธิดา
โทร 02 252 9871

แท็ก อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ