สปส.แจงเหตุคุ้มครองผู้ประกันตนลาออกจากงาน

ข่าวทั่วไป Monday December 18, 2006 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สปส.
ตามที่มีข่าวและบทความกรณีประกันการว่างงานเผยแพร่ออกมาหลังจากที่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ชำแหละ! ช่องโหว่ประกันการว่างงาน” เผยว่ากองทุนประกันการว่างงาน 2 ปี มีผู้ตั้งใจตกงาน หวังรับประโยชน์ทดแทนกว่าแสนคน สูญเงินเกือบพันล้าน ส่อเอื้อการเมืองหาเสียง
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวชี้แจงกรณีประกันการว่างงานของประเทศไทย ว่าสำนักงานประกันสังคมต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533 ซึ่งกำหนดให้ความคุ้มครองผู้ลาออกและผู้ถูกเลิกจ้าง เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ทำงานที่ว่างงานลง จนทำให้สูญเสียรายได้ ทั้งนี้ในนานาอารยประเทศจะไม่ให้ความคุ้มครองผู้ว่างงานโดยสมัครใจ (สมัครใจลาออกเอง)
ในเรื่องนี้ เบื้องต้นคณะกรรมการประกันสังคมมีมติไม่ให้ความคุ้มครองหากลูกจ้างลาออกเอง ให้ความคุ้มครองเฉพาะลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดต่อนายจ้าง แต่คณะกรรมการราชกฤษฎีกาตีความว่า การสิ้นสุดลงรวมถึง การลาออกโดยสมัครใจและสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นด้วย ซึ่งมาจากคำนิยาม “การว่างงาน” หมายถึง การที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงานเนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างสิ้นสุดลง จึงเป็นเหตุที่สำนักงานประกันสังคมต้องให้ประโยชน์ทดแทนกรณีลูกจ้างลาออกโดยสมัครใจด้วย
สำนักงานประกันสังคมกำหนดการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีลาออกโดยสมัครใจและสิ้นสุดสัญญาจ้างฯ เป็นเงินเพียง 30 %ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเป็นเวลา 90 วันเท่านั้น เนื่องจากผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอัตราเงินสมทบที่เรียกเก็บได้ผ่านการวิเคราะห์เพื่อรองรับปัญหานี้ไว้แล้ว
เลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการดำเนินการกรณีว่างงาน 2 ปี ของสำนักงานประกันสังคม พบว่า มีการลาออกจากงานสูงถึง 4 เท่าของการเลิกจ้าง ผู้วิจัยมองว่ามีการจ่ายเงินในกรณีนี้สูง แต่กองทุนประกันสังคมมี Fun Ratio ถึง 8 เท่า ซึ่งกองทุนยังคงมีเสถียรภาพอยู่ อีกทั้งเงินกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงานเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้ส่งเงินสมทบเข้ามา หากจะพิจารณาจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีลาออกโดยสมัครใจก็สามารถทำได้ เพราะลูกจ้างเองก็เป็นเจ้าของเงินกองทุนเช่นกัน
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506/ www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ