ไอบีเอ็มเผยโฉมยูนิกซ์เซิร์ฟเวอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก ด้วยพลังประมวลผลทรานแซคชั่นทางด้านธุรกิจได้เร็วกว่าถึง 3.2 เท่า

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday August 9, 2006 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มเผยโฉมยูนิกซ์เซิร์ฟเวอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก ด้วยพลังประมวลผลทรานแซคชั่นทางด้านธุรกิจได้เร็วกว่าถึง 3.2 เท่า ประสิทธิภาพต่อราคาดีกว่า 38% เมื่อเทียบกับ HP Integrity Superdome IBM System p5 ใหม่ใช้เทคโนโลยีชิป “Dual Stress” เพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน
ไอบีเอ็ม ซึ่งมีส่วนแบ่งรายได้ยูนิกซ์เซิร์ฟเวอร์เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีส่วนแบ่งรายได้สูงสุด ตามรายงานของไอดีซี ได้เปิดตัวระบบเซิร์ฟเวอร์ระดับไฮเอนด์ 2 รุ่น รวมถึงเซิร์ฟเวอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก นั่นคือ IBM System p5 595 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยคอร์ประมวลผล 64-Core สามารถทำลายสถิติสูงสุดด้วยความเร็วในการประมวลผล 4 ล้านทรานแซคชั่นต่อนาที โดยเสียค่าใช้จ่ายต่อทรานแซคชั่นต่ำกว่า HP Integrity Superdome ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของเอชพี ประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้เป็นผลมาจากเทคโนโลยีโปรเซสเซอร์ที่ก้าวล้ำ Dual Stress ของไอบีเอ็ม ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิดีโอเกมความเร็วสูง และนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเครื่อง IBM System p5
ไอบีเอ็มสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดยูนิกซ์เซิร์ฟเวอร์ทางด้านรายได้เพิ่มขึ้น 13 จุด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตามรายงานข้อมูลตลาดเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลกประจำไตรมาสแรกของปี 2549 ของไอดีซี และไอบีเอ็มคาดว่า ยูนิกซ์เซิร์ฟเวอร์ใหม่นี้จะทำให้ไอบีเอ็มเสริมสร้างความได้เปรียบทิ้งห่างคู่แข่งมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังได้เปิดตัว IBM Tivoli Usage and Accounting Manager (UAM) ซึ่งนับเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญสำหรับเทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization) โดย UAM จะช่วยให้ฝ่ายไอทีและผู้ให้บริการเอาต์ซอร์สสามารถตรวจสอบติดตามการใช้งานทรัพยากรเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ไม่ต่างอะไรกับค่าไฟฟ้าและประปา
IBM System p5 595 ซึ่งครองตำแหน่งอันดับหนึ่งในเบนช์มาร์ค (Benchmark) ที่สำคัญ 5 รายการ ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานทางด้านไอที พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยรวม ทั้งนี้ p5-595 มีระดับราคาต่อประสิทธิภาพดีกว่า 38% เมื่อเทียบกับเครื่องของเอชพี
ระบบรุ่นใหม่นี้ใช้ประโยชน์จากความเป็นผู้นำของไอบีเอ็มในด้านเทคโนโลยี Virtualization Engine โดยสามารถรองรับเซิร์ฟเวอร์เสมือนจริง (virtual servers) ได้มากถึง 10 เครื่อง หรือ 10 พาร์ติชั่นต่อหนึ่งคอร์ของโปรเซสเซอร์ ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถผนวกรวมระบบที่หลากหลายและแอปพลิเคชั่นที่แยกกระจัดกระจาย หรือแม้กระทั่งโครงสร้างพื้นฐานไอทีทั้งหมด โดยรวมอยู่บนเซิร์ฟเวอร์เพียงเครื่องเดียว
เทคโนโลยี Dual Stress — จากเกมคอนโซล สู่เซิร์ฟเวอร์
หนึ่งในพัฒนาการที่ก้าวล้ำที่สุดของโปรเซสเซอร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือเทคโนโลยี Dual Stress ซึ่งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของเซิร์ฟเวอร์ในลักษณะก้าวกระโดด ในเบื้องต้น ไอบีเอ็มพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อใช้กับเครื่องเล่นวิดีโอเกมระดับสุดยอด ซึ่งได้รับการเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว เทคโนโลยี Dual Stress ช่วยแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ซับซ้อนทางด้านฟิสิกส์ ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ออกแบบโปรเซสเซอร์มานานตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ทั้งนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบวิธีการยืดและบีบอัดซิลิกอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบและประหยัดพลังงาน กระบวนการผลิตแบบใหม่นี้ส่งผลให้ทรานซิสเตอร์มีความเร็วสูงขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้พลังงานเท่าเดิม เมื่อเทียบกับทรานซิสเตอร์ที่คล้ายคลึงกันซึ่งไม่ได้ผลิตด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากนี้ Dual Stress ยังสามารถใช้เพื่อปรับลดการใช้พลังงานให้น้อยลงได้อีกด้วย
ทรานซิสเตอร์ที่ทำงานได้เร็วกว่าและประหยัดพลังงานได้มากกว่านับเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับโปรเซสเซอร์ประสิทธิภาพสูงที่ใช้พลังงานต่ำ ทั้งนี้ ยิ่งทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็กลงเท่าใด ก็จะสามารถทำงานได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็เสี่ยงต่อการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นและระดับความร้อนเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าหรือสวิตช์ที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยี Strained Silicon ของไอบีเอ็มช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม
Dual Stress ปรับปรุงประสิทธิภาพของทรานซิสเตอร์กึ่งตัวนำทั้งสองชนิด นั่นคือ ทรานซิสเตอร์แบบ n-channel และ p-channel โดยจะยืดอะตอมซิลิกอนในทรานซิสเตอร์ตัวหนึ่ง และบีบอัดอะตอมซิลิกอนในทรานซิสเตอร์อีกตัวหนึ่ง เทคนิค Dual Stress ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ที่มีราคาแพง ดังนั้นจึงสามารถผนวกรวมเข้ากับระบบการผลิตที่มีอยู่ได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เครื่องมือและวัสดุมาตรฐาน
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพ้ฒน์ โทร : 02-273-4117 อีเมล์ : onumav@th.ibm.com

แท็ก ไอบีเอ็ม   IBM  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ