กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ปตท.
ผลจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเกือบ 2 เหรียญฯ หรือประมาณ 60 สตางค์/ลิตร ในขณะที่ได้ชลอการปรับราคาขายปลีกระยะหนึ่ง
นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ต่างๆ รอบโลก อาทิ วิกฤตการณ์พลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่านที่ทำให้เกิดข้อพิพาทกับชาติตะวันตก การขู่ประท้วงหยุดงาน ในฝรั่งเศส และโรงกลั่นหลายแห่งปิดซ่อมบำรุง เป็นต้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนสูงและปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซิน ในวันนี้ (17 มี.ค.49) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่ผ่านมาเกือบ 2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือประมาณ 60 สตางค์/ลิตร นั้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ปตท. ได้ชะลอการปรับราคาไว้ระยะหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันฯ อยู่ในระดับต่ำมาก (ประมาณ 40 สตางค์/ลิตร) ปตท. จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาปรับราคาน้ำมันขายปลีกเบนซินขึ้น 40 สตางค์/ลิตร มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (18 มี.ค.49) เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป ทำให้ราคาน้ำมันในเขต กทม. และปริมณฑลเป็นดังนี้
หน่วย : บาท/ลิตร
น้ำมันเบนซิน พีทีที อัลฟา เอ็กซ์ 95 27.14
น้ำมันเบนซิน พีทีที แก๊สโซฮอล์ 95 พลัส 25.64
น้ำมันเบนซิน พีทีที อัลฟา เอ็กซ์ 91 26.34
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พีทีที เดลต้า เอ็กซ์ ยูโร ทรี 25.49
น้ำมันพีทีทีไบโอดีเซล / น้ำมันดีเซล-ปาล์มบริสุทธิ์ 24.99
ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี จึงต้องมีการสำรองน้ำมันเบนซินไว้ โดยได้ออกประมูลซื้อเบนซินในปริมาณ 495,000 บาร์เรล ประกอบกับมีการส่งออกน้ำมันจากเกาหลีใต้ไปยังประเทศแถบตะวันตกอีกประมาณ 495,000 บาร์เรล ด้วยเช่นกัน จึงส่งให้ปริมาณน้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียลดลง
สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกแม้ว่ายังคงแกว่งตัวขึ้นลงตามกระแสข่าวรายวันแล้ว แต่โดยรวมปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างอ่อนตัว เพราะสหรัฐฯ มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 7 ปี รวมทั้งการตัดสินใจของกลุ่มโอเปกที่ยังคงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับ 28 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 25 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในช่วง 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน อาทิ ไนจีเรีย อิรัก และเอกวาดอร์ โดยเฉพาะอิหร่าน ซึ่งมีปัญหาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ยังยืดเยื้อต่อไป โดยในช่วงสัปดาห์หน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (U.N.S.C.) จะตัดสินว่าจะคว่ำบาตรประเทศอิหร่านหรือไม่ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมันทั้งหลายในโลก รวมทั้งประเทศไทยของเราซึ่งมีการใช้พลังงานและมีการนำเข้ากว่า 90% จึงต้องมีการประหยัดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นายชัยวัฒน์ กล่าวตอนท้าย
ส่วนประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน ปตท.
โทรศัพท์ 0 2537 2532, 2538
โทรสาร 0 2537 2571
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net