กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--การบินไทย
การบินไทย หนุนรัฐเปิดใช้สนามบินดอนเมืองรับเที่ยวบินในประเทศโดยเฉพาะ เหตุค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3.7 พันล้านบาทหลังย้ายมาสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่ผู้โดยสารร้องไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ เผยมีแนวโน้มลดค่าตั๋วในประเทศ หากต้นทุนลดลง
ร.ท.อภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากการบินไทยย้ายฐานปฏิบัติการบินจากท่าอากาศยานกรุงเทพมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าพื้นที่ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือค่าเสื่อมราคา โดยคาดว่าในปี 2550 การบินไทยจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นอีก 3.7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนที่เปิดให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่าผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง ประกอบกับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดกระแสเรียกร้องให้ย้ายเที่ยวบินในประเทศกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่ว เพราะจะช่วยลดปัญหาความคับคั่งของปริมาณการจราจรทางอากาศในอนาคต
ทั้งนี้ การเปิดใช้ท่าอากาศยาน 2 แห่ง เป็นเรื่องปกติของประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการเปิดใช้ท่าอากาศยาน 2 แห่งควบคู่กัน เช่น ญี่ปุ่น แต่การใช้งานของท่าอากาศยานต้องมีความชัดเจนว่าจะให้บริการเที่ยวบินประเภทใดบ้าง ซึ่งท่าอากาศยานกรุงเทพอาจให้บริการเพาะเที่ยวบินในประเทศ แต่ต้องอนุญาตให้ทุกสายการบินใช้บริการได้ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน
"ผมเห็นว่าเป็นการดีที่จะเปิดใช้สองท่าอากาศยานควบคู่กัน เพราะจะทำให้อาคาร สิ่งปลูกสร้างที่เคยสร้างรายได้ให้กับภาครัฐกลับมาฟื้นฟูมีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะโรงแรมท่าอากาศยานซึ่งมีรายได้ลดลงกว่า 40% ก็จะกลับมาสร้างรายได้ให้การบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้นอีกครั้ง และยังเป็นทางเลือกให้กับผู้โดยสารในการเดินทางอีกด้วย" ร.ท.อภินันทน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีนโยบายเปิดให้บริการท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง การบินไทยยืนยันว่าพร้อมให้บริการ โดยจะไม่กระทบต่อเที่ยวบินเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เพราะการบินไทยจะจัดให้เที่ยวบินในประเทศที่ต้องเดินทางไปยังประเทศอื่น เช่น เที่ยวบินเชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนเที่ยวบินในประเทศเส้นทางอื่นๆ จะให้บริการที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ
“การย้ายเที่ยวบินในประเทศไปให้บริการที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายบ้าง แต่จะไม่สูงมากนัก ส่วนบุคลากรที่มีอยู่นั้นเพียงพอที่จะทำงานในท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง หากต้นทุนการให้บริการที่ท่าอากาศยานกรุงเทพต่ำกว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดค่าโดยสารเที่ยวบินในประเทศ” ร.ท.อภินันทน์ กล่าว