หลากเรื่องหนังไทยเก่า-ใหม่ หาชมได้ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ

ข่าวทั่วไป Monday February 20, 2006 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ททท.
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2549 หลังเปิดงานอย่างเป็นทางการ ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก ทั้งภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้าฉายในเทศกาลฯ มีรอบฉายเฉลี่ยหมุนเวียนมากกว่า 30 รอบต่อวันตลอดทั้ง 8 โรงของพารากอน ซีเนเพล็กซ์ ชั้น 5 ภายในสยามพารากอน
โดยในปีนี้ มีภาพยนตร์ไทยทั้งเก่าและใหม่ จากหลายค่ายที่ร่วมส่งเข้าฉายระหว่างเทศกาลฯ รวมมากกว่า 20 เรื่อง นอกจากเรื่อง Invisible Waves (คำพิพากษาของมหาสมุทร) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เปิดของเทศกาลฯ เมื่อค่ำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว ยังมีภาพยนตร์ไทยที่เข้าคิวรอฉายระหว่าง 18-27 กุมภาพันธ์นี้ ได้แก่ มะหมี่ (3 Friends) อหิงสา จิกโก๋มีกรรม (AHIMSA Stop to Run) มหา’ลัยเหมืองแร่ (The Tin Mine) ทั้ง 3 เรื่องเป็นภาพยนตร์ร่วมประกวดในสาย ASEAN Competition ประเภทภาพยนตร์สั้นมี 5 เรื่อง ประกอบด้วย Tsu ของปราโมทย์ แสงศร กำกับขึ้นเพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์สึนามิ /Kiss the Machine / The Same Old Story as I Thought/ Pillow Talk และ Bedtime Story รวมทั้งมีเรื่องเล่าจากเมืองเหนือ (The Stories from the North) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยที่เข้าร่วมประกวดในประเภทสารคดีนานาชาติอีกเรื่องหนึ่งด้วย
ในส่วนของภาพยนตร์ที่เข้าฉายโดยไม่ได้ร่วมประกวดในสายใด ๆ มีภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 เรื่อง คือ คีตราชัน
(Gitarajan)และ อีกผลงานของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ในเรื่องด้วยเกล้า (The Seed) นอกจากนี้ยังมีการนำภาพยนตร์เก่าของสมบัติ เมทะนี มาฉาย 5 เรื่อง ได้แก่ ตะวันหลั่งเลือด (The Blood Sun) นักเลงเทวดา (The Holy Hoodlum) นรกตะรุเตา(The Hell of Tarutao) ขุนศึก(War Lord) และฟ้าทะลายโจร (Tears of the Black Tiger) อีกทั้งยังมีเรื่องที่เด็กหอ (Dorm) เด็กโต๋ (Innocence) หิ่งห้อย(Things That Move : Fireflies) กบฎท้าวศรีสุดาจันทร์ (The King Maker) วัยอลวน (Oops! There’s Dad) นาก รักแท้ วิญญาณ ความตาย (The Ghost of Mae Nak) และเพื่อนสนิท (Dear Dakanda) ซึ่งล้วนเป็นภาพยนตร์ไทยที่น่าชมทั้งสิ้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ