กระทรวงวิทย์ฯ ดัน อุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นศูนย์กลางให้การสนับสนุนด้าน R&D เร่งส่งเสริมเอกชนไทยมุ่งสู่ธุรกิจฐานความรู้

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 24, 2006 17:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ฯชี้แจง ภาครัฐเตรียมปรับบทบาทการส่งเสริมการลงทุน โดยมุ่งเน้นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในประเทศไทย ภาคเอกชนขานรับ ถ้าไม่มีการวิจัยและพัฒนาก็คงแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) จัดงานเสวนาให้หัวข้อ ความพร้อมรองรับงานวิจัย : โอกาสใหม่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมงานเสวนา ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม และสื่อมวลชน จากนั้นผู้ร่วมงานได้เยี่ยมชมศักยภาพของการทำงานวิจัยและพัฒนาภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทย์ฯ มีนโยบายที่จะพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้ความสามารถของคนเหล่านี้ไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ภาครัฐได้ลงทุนจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นฐานในการสร้างคน สร้างความรู้ไว้ที่นี่ เราหวังว่าตรงนี้จะเป็นแรงสนับสนุนและเป็นแรงดึงดูดภาคเอกชนให้มาทำงานวิจัยและพัฒนา”
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า “ประเทศเราจะก้าวสู่ธุรกิจฐานความรู้ หรือ Knowledge-based Industry ได้ด้วยการมีงานวิจัยและพัฒนา อุทยานวิทยาศาสตร์เป็นโครงสร้างสำคัญที่จะช่วยให้มีงานวิจัยและพัฒนา (Research & Development) เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงของประเทศ”
“อุทยานวิทยาศาสตร์ เรียกง่ายๆก็คือ นิคมวิจัย เป็นที่ทำงานของนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีหลายๆสาขา นอกจากนั้น อุทยานวิทยาศาสตร์ยังมีหน้าที่ในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในอุตสาหกรรมฐานความรู้ ผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างธุรกิจใหม่”
“ปัจจุบัน เอกชนไทยและบริษัทต่างประเทศ ได้เข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยกว่า 40 ราย และได้รับประโยชน์จากการทำงานร่วมกับนักวิจัยในศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์ (BIOTEC, NECTEC, MTEC, NANOTEC) รวมทั้งความเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียง”
“เราต้องการให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะมีกำลังสมองราคาถูกเป็นจุดดึงดูด ไม่ใช่แรงงานราคาถูก”
ตัวแทนของผู้ประกอบการที่ลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนา นายสัตวแพทย์รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา บริษัท ศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร จำกัด ซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่เพื่อก่อตั้งศูนย์วิจัยในอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นรายแรก กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่เอกชนต้องเริ่มทำงานวิจัยและพัฒนา การซื้อมาขายไปทำให้ธุรกิจไปได้ไม่ไกล หากเริ่มวิจัยวันนี้ วันหน้าธุรกิจก็จะมีความมั่นคง ทางบริษัทโชคดีที่ได้มาอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์”
ดร.วิไลพร เจตนจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “ถ้าประเทศไทยไม่ทำงานวิจัยและพัฒนา เราจะอยู่ด้วยตนเองไม่ได้ อะไรๆ ก็ต้องซื้อเขาหมด แล้วประเทศก็จะล่มจม”
สำหรับผู้ที่สนใจขอรับบริการด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี (R&D) รวมทั้งความสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวก สามารถติดต่อศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ได้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทร. 0 2564 8000 หรือ http://www.tmc.nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ