กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงาน เผยการใช้น้ำมันดีเซลและเบนซิน 10 เดือน ลดลงต่อเนื่อง การใช้น้ำมันดีเซลลดลง 7.2% และการใช้เบนซินลดลง 1.3% ส่งผลให้ภาพรวมยอดการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง 0.4% โดยมูลค่าการนำเข้ายังคงสูงขึ้น แต่มีรายได้จากการส่งออกกลับคืนให้ประเทศเพิ่มขึ้น 28.8% คิดเป็นเงิน 1.6 แสนล้านบาท
นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า 10 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ปริมาณการใช้น้ำมันยังคงลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันคือ 10 เดือน ของปี 2548 การใช้ดีเซลลดลงร้อยละ 7.2 จากเดิมเฉลี่ยวันละ 53.8 ล้านลิตร เหลือวันละ 50 ล้านลิตร ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินรวม ออกเทน 95 ออกเทน 91 และ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ลดลงร้อยละ 1.3 จากเดิมเฉลี่ยวันละ 19.9 ล้านลิตร เหลือวันละ 19.6 ล้านลิตร โดยเฉพาะในส่วนของเบนซินออกเทน 95 และ91 ลดลงร้อยละ 12 จากเดิมเฉลี่ยวันละ 18.3 ล้านลิตร เหลือวันละ 16.1 ล้านลิตร
การใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการประหยัดพลังงานของประชาชนอย่างต่อเนื่องและได้แทรกซึมเข้าไปในพฤติกรรมของประชาชน เพราะแม้สถานการณ์ราคาน้ำมันจะมีการปรับลดลงตามราคาตลาดโลกก็ตาม โดยในเดือนตุลาคม 2549 ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจำนวน 2 ครั้ง และปรับขึ้น 1 ครั้ง คิดเป็นการปรับลดลงทั้งสิ้น 30 สตางค์ต่อลิตร แต่การใช้น้ำมันดีเซลก็ยังคงลดลง โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2548 ยังคงลดลงร้อยละ 1.1 จากวันละ 46.6 ล้านลิตร เหลือวันละ 46.1 ล้านลิตร
การใช้น้ำมันเบนซินที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนน้ำมันของรัฐบาล ทำให้มีผู้ขับรถยนต์จำนวนหนึ่งเปลี่ยนมาใช้ NGV เพิ่มขึ้น ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 พบว่า มีปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปี 2548 ร้อยละ 62.8 เฉลี่ยจาก วันละ 6.3 ล้านลูกบาศก์ฟุต เพิ่มเป็นวันละ 10.2 ล้านลูกบาศก์ฟุต พบจำนวนรถยนต์ที่ให้ความสนใจเปลี่ยนมาติดตั้งอุปกรณ์ NGV แล้วทั้งสิ้น 23,127 คัน นอกจากนี้การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ พบว่า เพิ่มขึ้นจากปี 2548 มากกว่า 100% จากวันละ 1.5 ล้านลิตร เป็นวันละ 3.5 ล้านลิตร หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.9 ของการใช้น้ำมันเบนซินทั้งหมด
ทั้งนี้ สาเหตุของการใช้น้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ 10 เดือนแรกของปี 2549 ลดลง โดยลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2548 จากวันละ 845,000 บาร์เรล เหลือวันละ 842,000 บาร์เรล แต่มูลค่าที่ประเทศต้องจ่ายค่าน้ำมันดิบคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 649,584 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ส่วนการส่งออกน้ำมันสามารถสร้างรายได้กลับคืนให้ประเทศคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 161,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 28.8 แบ่งเป็นส่งออกน้ำมันดิบ มูลค่าทั้งสิ้น 48,182 ล้านบาท และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป มูลค่าทั้งสิ้น 113,049 ล้านบาท