เวียดนาม … สวรรค์นักลงทุนจริงหรือ ?

ข่าวทั่วไป Wednesday August 9, 2006 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ธนาคารกรุงเทพ
เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ กำลัง แรงงานที่มีจำนวนมาก และมีความกระตือรือร้น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการคมนาคมขนส่งทางบกและทางทะเล ขณะที่การเมืองมีเสถียรภาพ และรัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างจริงจัง มีการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน รับประกันการลงทุนว่าจะไม่ยึดทรัพย์สินหรือโอนกิจการลงทุนของต่างประเทศเป็นของรัฐ ทำให้ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม การลงทุนในเวียดนามก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนจำเป็นต้องให้ความสนใจ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รวบรวมข้อมูลที่นักลงทุนไทยควรรู้ในการไปลงทุนในเวียดนาม จากการประมวลและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการหลายรายในเวียดนาม พบว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มีความมุ่งมั่นและรู้จริงในอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุน มีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งในด้านการผลิต ความต้องการใช้ ปัจจัยแวดล้อม รวมถึงการเดินทางสำรวจพื้นที่ด้วยตนเอง มีความสามารถในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะมีความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น รวมถึงพฤติกรรมของแรงงาน นอกจากนี้ ควรศึกษากฎระเบียบและตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานของรัฐบาล สถานทูต สถานกงสุล สำนักงานผู้แทนการค้าไทย และธนาคารพาณิชย์ไทยในเวียดนาม เป็นต้น
รูปแบบการลงทุน ควรลงทุนโดยใช้ทุนตนเองทั้งหมด หากจำเป็นต้องร่วมทุนกับท้องถิ่น ต้องศึกษาผู้ร่วมทุนอย่างรอบคอบ การทำสัญญาหรือเสนอแผนการลงทุนทุกครั้ง ต้องรัดกุมชัดเจน และสามารถป้องกันปัญหาทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง และด้วยเหตุที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีความยาวกว่า 1,650 กิโลเมตร การเดินทางจากเหนือถึงใต้ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น การบริหารระบบโลจิสติกส์จึงมีความสำคัญมาก นอกจากนี้ การดำเนินกิจการมักมีรายจ่ายที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีการบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและมีเงินสำรองเพียงพอ ที่สำคัญการลงทุนนั้นควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืนของทั้งผู้ลงทุนและประชาชนทั้งสองประเทศ
สำหรับปัญหาที่ได้รับฟังจากนักลงทุนไทยที่เข้าไปในเวียดนามส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ กฎระเบียบ รวมถึงอัตราภาษีมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้การวางแผนธุรกิจเป็นไปได้ยาก แต่รัฐบาลก็รับฟังความเห็นของนักลงทุนและพร้อมแก้ปัญหา โดยมีการจัดประชุมร่วมกับนักธุรกิจเป็นประจำทุกเดือน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบการขนส่งยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น นักลงทุนควรเลือกตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตส่งเสริมการส่งออก ซึ่งจะได้รับความสะดวกทั้งในด้านสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัญหาการขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่น แต่ควรมีการเปรียบเทียบระหว่างนิคมต่างๆ ทั้งในด้านราคา ทำเลที่ตั้ง สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด และมีความเหมาะสมสำหรับธุรกิจของตน อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ภาษา เนื่องจากเวียดนามมิได้เน้นภาษาอังกฤษ การศึกษาภาษาเวียดนามจะเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะในการติดต่อลูกค้าและหน่วยราชการ แต่การเรียนรู้ภาษาเวียดนามไม่ยากนัก เนื่องจากมีโครงสร้างประโยคคล้ายภาษาไทย ขณะที่การผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในเวียดนามโดยปกติบริษัทต่างชาติต้องผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยสามารถจำหน่ายในประเทศได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ยกเว้นการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า แต่การจำหน่ายในประเทศต้องผ่าน ตัวแทนชาวเวียดนาม เพราะชาวต่างชาติทำธุรกิจการค้าโดยตรงไม่ได้ ดังนั้น การจำหน่ายในประเทศนอกจากต้องศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว ยังต้องเข้าใจกฎหมายของเวียดนาม การแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายต้องรอบคอบและทำสัญญาอย่างรัดกุม
ประเภทธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปลงทุนในเวียดนามนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ มหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แนะนำว่ามีหลากหลายตั้งแต่ด้านเกษตรกรรม เวียดนามมีศักยภาพสูงทางด้านเกษตรกรรมคล้ายคลึงกับไทย ดังนั้น ไทยและเวียดนามจึงน่าจะร่วมมือกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพสูงขึ้น รวมถึงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าดังกล่าว ขณะที่ตลาดแรงงานในเวียดนามมีความน่าสนใจไม่น้อย ทั้งในแง่ของจำนวนแรงงาน ความต้องการทำงาน อัตราค่าจ้างแรงงาน ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาการประท้วงและการนัดหยุดงานมีค่อนข้างน้อย เวียดนามจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมไทยที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อช่วยลดต้นทุนดำเนินการและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีแนวโน้มดีสำหรับนักลงทุนไทย ได้แก่ พลาสติก ซึ่งปัจจุบันความต้องการบริโภคพลาสติกในเวียดนามมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ รวมถึงการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำประมง วัสดุก่อสร้าง การลงทุนด้านพลังงาน และเหมืองแร่ต่างๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ