กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--สกว.
ประเทศไทยไม่มีแหล่งพลังงานภายในประเทศพอเพียงและต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการ พลังงานที่นำเข้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท หรือกว่า 10% ของ GDP และมีมูลค่าประมาณ 15% ของมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกในปี 2548 นอกจากนี้กว่า 80% ของพลังงานที่ใช้ยังเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทุกระดับตั้งแต่ระดับโลก (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน) ระดับภูมิภาค (ฝนกรด) และระดับท้องถิ่น (ฝุ่นละออง NOx และฝนกรด) นอกจากนี้ ภาวะการเพิ่มขึ้นและความผันผวนของราคาน้ำมันมีผลกระทบต่อภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศและค่าครองชีพของประชาชนอย่างรุนแรง
แนวทางพื้นฐานในการลดผลกระทบของปัญหาพลังงานก็คือ การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งพลังงานสะอาดภายในประเทศ เพื่อลดการใช้พลังงานที่ต้องนำเข้าลง พลังน้ำขนาดเล็ก (กำลังผลิตต่ำกว่า 15 MW) เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีความเหมาะสมมากที่สุดประเภทหนึ่ง เพราะในการพัฒนาพลังน้ำขนาดเล็กก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยและเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและสามารถผลิตขึ้นได้เองในประเทศเป็นส่วนใหญ่ กอปรกับ ประเทศไทยยังมีนโยบายที่จะใช้แหล่งพลังน้ำของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยด้วย และได้เริ่มพัฒนาและทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านไปแล้วหลายโครงการ แผนงานและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาแหล่งพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านน่าจะได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดผลดีต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน การรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าวจะทำให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้นและสามารถดำเนินการอย่างรอบคอบขึ้น
ราชบัณฑิตยสถาน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาแหล่งพลังน้ำเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาพลังงานของประเทศ จึงร่วมจัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในการผลิตพลังงานไฟฟ้า” ขึ้นในวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2549 เวลา 08.30-17.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ (รายละเอียดตามกำหนดการแนบ)
กำหนดการประชุมวิชาการเรื่อง
08.30 น. ลงทะเบียน
09.00 น เปิดการประชุม/สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำสำหรับประเทศไทย
โดย ศาสตราจารย์ ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์
09.30 น. นำเสนอ เรื่อง “นโยบายและแผนพัฒนาพลังน้ำของประเทศ”
โดย คุณบุญส่ง เกิดกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
10.10 น. พักรับประทานอาหารว่าง
10.30 น. นำเสนอเรื่อง “การพัฒนาโครงการพลังน้ำขนาดเล็ก”
โดย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
11.10 น. นำเสนอเรื่อง “โครงการเขื่อนพลังน้ำในแม่น้ำโขงระหว่างลาวกับไทย”
โดย คุณอดุล ฉายอรุณ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
11.50 น. นำเสนอเรื่อง “การจัดการโครงการเขื่อนปากมูล”
โดย คุณวันชัย ประไพสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจที่ดินพลังน้ำ
12.30 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.40 น. นำเสนอเรื่อง “โครงการเขื่อนน้ำหมันและน้ำสาน”
โดย คุณพีระชัย จรรยาพรวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพิเศษ 1
14.20 น. นำเสนอเรื่อง “กรณีศึกษาเขื่อนพลังน้ำในประเทศลาว”
โดย คุณสุพจี นิลอุบล กงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดน ประจำประเทศไทย
15.00 น. นำเสนอเรื่อง “การประเมินศักยภาพของพลังน้ำขนาดเล็กเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย”
โดย รศ. ชัยยุทธ ชินณะราศี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
15.40 น. นำเสนอเรื่อง “การบริหารจัดการโครงการพลังน้ำขนาดเล็กในชนบท”
โดย คุณฉัตรดนัย ฉัตรพลรักษ์ บริษัท Able Consultant
16.20 น. นำเสนอเรื่อง “ผลกระทบของเขื่อนต่อสุขภาพของชุมชน”
โดย คุณศศิธร ผู้กฤตยาคามี ภาคีสมาชิก 1,2 และ
ศ.นพ. ปณต มิคะเสน ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิต 1
17.00 น. สรุปผลการประชุม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ประชาสัมพันธ์ สกว.