กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
ผู้เลี้ยงกุ้งจวกสหรัฐฯ เชื่อไม่ได้ ...อ่อยจะยกเลิกซีบอนด์ให้กุ้ง แต่หวังได้ผลประโยชน์เอฟทีเอมหาศาล หนุนรัฐฟ้องดับบลิวทีโอโดยเร็ว กรณีเก็บซีบอนด์ซ้อนภาษีโหด
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึงกรณีที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้หยิบยกเรื่องที่ศุลกากรสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีค้ำประกันการนำเข้ากุ้งล่วงหน้า หรือ คอนทินิวอัสบอนด์ (Continuous Bond) ว่าจะยกเลิกให้ ในเวทีเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯเมื่อเร็วๆนี้ที่เชียงใหม่ โดยให้ความหวังว่าจะให้แล้วเสร็จใน 60 วัน และขอให้รัฐบาลไทยชะลอการยื่นฟ้องว่า เป็นเรื่องที่สหรัฐลวง เพื่อหวังผลประโยชน์มหาศาลที่จะได้จากการเจรจาฯ วอนรัฐอย่าหลงกลลวงสหรัฐฯ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน คนละส่วนกัน หนุนรัฐสุดลิ่มให้ฟ้องดับเบิลยูทีโอโดยเร็ว สหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้ากุ้งซ้ำซ้อน ผิดกฎการค้าโลก
“เอฟทีเอเป็นเรื่องของรัฐบาล ของคณะเจรจาฯ ส่วนซีบอนด์เป็นเรื่องของศุลกากรสหรัฐฯ ที่วางมาตรการโหดกำหนดให้บังคับใช้ หากสหรัฐฯจริงใจก็สามารถยกเลิกได้ แต่ไม่ทำ เพราะหวังจะเอามาเป็นข้อต่อรองให้ไทยเปิดเสรีการค้าที่สำคัญ ในส่วนที่อ่อนไหวของไทย เช่น การเงิน การธนาคาร ฯลฯ เรื่องนี้น่าทุเรศมาก พยายามเอาซีบอนด์ ซีบ้ามาเป็นข้อต่อรองในการเจรจาเอฟทีเอได้อย่างไร ทำแบบนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของสหรัฐ ประจานถึงความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของสหรัฐชัดเจนมาก เพราะฉะนั้นอย่าให้สหรัฐฯหลอกลวงเรามากไปกว่านี้เลยครับ พวกเราเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยอยากให้รัฐดำเนินการฟ้องสหรัฐฯ ต่อดับเบิลยูทีโอโดยเร็วที่สุด กรณีที่เก็บภาษีนำเข้ากุ้งซ้ำซ้อน เพราะเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ทำผิดกฎการค้าโลก เก็บภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 5.95 ทุกครั้งที่ส่งกุ้งไปแล้ว ยังต้องให้ไปวางเงินค้ำประกันนำเข้าล่วงหน้าร้อยเปอร์เซ็นต์อีกมหาศาล กำหนดคืนเงินที่ไปวางค้ำก็ไม่ชัดเจน ต้องเอาไปวางไว้ 3 ปีเป็นอย่างช้า บอกว่าเก็บจากผู้นำเข้า ซึ่งผลักภาระมาที่ผู้ส่งออก เงินก็ต้องไปจมอยู่กับซีบอนด์ อย่างนี้จะมีเงินที่ไหนมาซื้อกุ้งพวกเราหละครับ สุดท้ายแล้วใครเดือดร้อนหละครับ ก็ไม่พ้นพวกผมผู้เลี้ยงกุ้ง แบบนี้เค้าไม่เรียกว่ามหามิตรแล้ว อย่าไปเชื่อชะลอการฟ้องฯ ตามที่สหรัฐฯขอเลยครับ เค้าไม่ได้จริงใจกับเราอย่างที่คิด” นายเอกพจน์ กล่าว
การนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯ เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2548 ปริมาณ 60,299 ตัน โดยนำเข้ากุ้งจากจีน 6,139 ตัน จากไทย 16,917 ตัน และจากอินเดีย 2,950 ตัน ลดลงร้อยละ 44, 7.5 และ 20 ตามลำดับ คาดอัตราการบริโภคกุ้งคนอเมริกันปี 2548 มากกว่า 4 ปอนด์/คน/ปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ
ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
โทร. 01-9566611--จบ--