หลักประกันสุขภาพแบบไหนคนไทยได้ประโยชน์?

ข่าวทั่วไป Thursday June 22, 2006 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--สวรส.
ด้วยบริบทของสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ระบบสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบว่ายังมีโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพของประเทศอีกหลายโครงการ จนก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนของงบประมาณอีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำในการให้บริการ ทำอย่างไร “หลักประกันสุขภาพของคนไทย” จึงจะมีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และเพื่อให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพอย่างเหมาะสม และเท่าเทียม สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ทุนสนับสนุนแก่ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ทำวิจัยในโครงการติดตามประเมินผลการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระยะที่ 2 (2546-2547)
ทั้งนี้จากการติดตามประเมินผลการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระหว่างปี 2544- 2547 พบว่าปัจจุบันระบบสุขภาพในประเทศไทยประกอบด้วยโครงการหลักๆ 3 โครงการคือ สวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ กองทุนประกันสังคม และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งโครงการทั้ง3 นี้จะให้หลักประกันที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าทั้ง 3 โครงการยังมีความทับซ้อนกันอยู่บ้างในด้าน ดังนี้
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ ข้าราชการใช้สิทธิ์ได้ในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โครงการประกันสังคมใช้สิทธิ์ได้เฉพาะสถานพยาบาลที่เลือก โครงการ 30 บาทใช้ได้เฉพาะสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือที่ทำงานที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ความคุ้มครองเพิ่มเติมจากตัวผู้มีสิทธิ์ พบว่า สวัสดิการข้าราชการครอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วยในขณะที่โครงการประกันสังคมและ 30 บาทครอบคลุมเฉพาะบุคคลเท่านั้น
การสำรองจ่ายก่อนเมื่อเข้าใช้บริการ ข้าราชการหากเป็นผู้ป่วยนอกต้องสำรองจ่ายก่อน ขณะที่ประกันสังคมและ 30 บาทไม่ต้องสำรองจ่าย แต่หากเป็นผู้ป่วยใน ไม่ต้องสำรองจ่ายเลยยกเว้นประกันสังคมในกรณีที่มีอุบัติเหตุหรือฉุกเฉินที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลที่ระบุได้ ผู้ใช้สิทธิ์จึงต้องสำรองจ่ายก่อนแล้วนำหลักฐานมารับคืนจากสำนักงานประกันสังคม
การร่วมจ่ายค่าบริการ สวัสดิการข้าราชการไม่ต้องจ่ายร่วม ส่วนประกันสังคมผู้ประกันตนจะต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนร่วมกับนายจ้างและรัฐร้อยละ 4.5 ของเงินเดือน ส่วน 30 บาทผู้ใช้สิทธิ์ต้องจ่าย 30 บาทต่อการเข้ารับการรักษาแต่ละครั้ง การตรวจสุขภาพประจำปี ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจใช้สิทธิ์ได้ปีละครั้งเฉพาะบุคคลไม่รวมครอบครัว แต่ประกันสังคมไม่ได้รับสิทธิ์นี้ ส่วน 30 บาทเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ แต่ขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติที่กำหนดในโครงการ
สิทธิ์การใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ สวัสดิการข้าราชการมีสิทธิ์ใช้ยานอกบัญชีหลักแห่งชาติได้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการแพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีความจำเป็น ส่วนประกันสังคมไม่ข้อจำกัดเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติสถานพยาบาลที่ให้บริการมักจะไม่จ่ายยาที่มีราคาแพง สำหรับ 30 บาทผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ค่าห้องพิเศษ ข้าราชการเบิกได้ไม่เกินวันละ 600 บาทและไม่เกิน 13 วันต่อครั้ง เว้นแต่มีแพทย์รับรอง ประกันสังคมเบิกได้ 700 บาทต่อวันไม่เกิน 180 วัน/ปี ขณะที่ 30 บาทหากผู้ป่วยขออยู่ห้องพิเศษต้องจ่ายค่าห้องพิเศษเองทั้งหมด โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ข้าราชการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามจริง ประกันสังคมเบิกจ่ายได้เท่าที่กำหนด 30 บาท ได้ทุกกรณียกเว้นล้างไต และเอดส์ โรคจิต ทุกหลักประกันได้สิทธิ์ในการบำบัดรักษา การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด มีเฉพาะสวัสดิการข้าราชการเท่านั้นที่ได้รับสิทธิ์นี้ ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาล ข้าราชการไม่เกิน 13 วันต่อครั้ง ประกันสังคมและ 30 บาทไม่เกิน 180 วัน/ครั้ง
การคลอดบุตร ประกันสังคมไม่เกิน 2 ครั้งต่อรายโดยกำหนดจ่ายไว้ที่ 6,000 บาทต่อครั้ง ขณะที่ 30 บาทคุ้มครองไม่เกิน 2 ครั้งต่อราย บริการด้านทันตกรรม ข้าราชการเบิกจ่ายตามจริง แต่จำกัดเฉพาะสถานบริการของรัฐ ประกันสังคม ครั้งละ 200 ไม่เกิน 400 ต่อปี ขณะที่ 30 บาทครอบคลุมทันตกรรมทุกประเภทรวมทั้งการทำฟันปลอมฐานพลาสติกด้วย
การที่โครงการประกันสุขภาพต่างๆมีสิทธิประโยชน์และกลไกการจ่ายเงินที่ต่างกันทำให้เกิดความกังวลว่าผู้เข้ารับบริการจะไม่ได้รับความเสมอภาค ที่ผ่านมาจึงมีผู้เสนอแนวทางแก้ไขไว้ 2 แนวทางคือ 1. ปรับชุดสิทธิประโยชน์และกลไกการจ่ายเงินให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น และ 2.รวมกองทุนทั้งหมดเข้าด้วยกัน
แม้ว่า พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะกำหนดทิศทางที่จะไปสู่การบริหารจัดการกองทุนประกันสุขภาพต่างๆร่วมกันในอนาคต แต่ในระยะนี้คงจะยังไม่มีการรวบรวมการบริหารจัดการกองทุนต่างๆเข้าด้วยการ และมีแนวโน้มว่าประเด็นเรื่องความเสมอภาคและสิทธิ์ซ้ำซ้อนจะยังคงเป็นปัญหาในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้เพราะผู้มีสิทธิ์สามารถเลือกใช้สิทธิ์ได้หลายสิทธิ์ เนื่องจากไม่มีหลักประกันสุขภาพชนิดใดที่ให้สิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าหลักประกันสุขภาพอื่นในทุกด้าน ซึ่งวิธีแก้ปัญหานี้ในระยะสั้นคือยกระดับสิทธิ์ประโยชน์ของโครงการสวัสดิการข้าราชการในส่วนที่ต่ำกว่าโครงการอื่นๆ ให้เท่าเทียมกับโครงการอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ยกระดับสิทธิประโยชน์ของโครงการประกันสังคมในส่วนที่ต่ำกว่าโครงการ 30 บาทให้เท่ากับโครงการ 30 บาท ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดลำดับชั้นของหลักประกันสุขภาพทั้งสามชัดเจน และสามารถแก้ปัญหาสิทธิ์ซ้ำซ้อนได้ แต่ในด้านความเสมอภาคนั้นจะต้องปรับเปลี่ยนกลไกการจ่ายเงินของทั้งสามโครงการที่จ่ายให้สถานพยาบาลให้มีความใกล้เคียงกันเพื่อลดปัญหาแรงจูงใจของสถานพยาบาลที่จะให้บริการในลักษณะสองหรือหลายมาตรฐาน ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนและความเสมอภาคของระบบประกันสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ประชาสัมพันธ์ สวรส.0-2279-9584

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ