กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--สสวท.
รายงานข่าวจากงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"วิทยาศาสตร์เพื่อเยาวชน"ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมทางไกลไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)กล่าวว่า คนที่เรียนวิทยาศาสตร์เป็นคนที่มีจิตใจใฝ่รู้ ทำให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา การที่จะทำวิจัยให้ครบวงจรได้นั้น จะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ครบวงจรก่อน เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเยาวชนระดับประถมศึกษาขึ้นไป ทั้งในด้านความรู้ ประสบการณ์ สามัญสำนึก คุณธรรม
ส่วน ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์ ผู้จัดการโครงการขององค์การนาซา-เจพีแอลได้ชูประเด็นการทำวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นมากที่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จะต้องรวมกลุ่มกันผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนทุนการวิจัยแบบครบวงจร เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาช่วยลดการนำเข้า เพิ่มการส่งออกและช่วยสร้างงาน เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศมูลค่ามหาศาล แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะละทิ้งการวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยเชิงสังคม
"ผมได้ทุนประมาณ310 ล้านบาทด้านการทำวิจัยแบบบูรณาการจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)มีระยะเวลาวิจัยสามปีครึ่งในช่วงพ.ศ. 2547-2540โดยการทำวิจัยนำร่องด้านยา เคมีภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เริ่มตั้งแต่สำรวจตลาดเลือกผลิตภัณฑ์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดลองผลิตและทำการตลาดในโครงการวิจัยมีทั้งหมด63ผลิตภัณฑ์มีผู้ร่วมวิจัย550คน โดยนักวิจัย548คนอยู่ในประเทศ ส่วนอีก2คนอยู่ต่างประเทศ ในช่วง 8 เดือนของการทำงานวิจัยดังกล่าวช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการสั่งซื้อวัตถุดิบทางทันตกรรมแล้วประมาณ100ล้านบาท"ดร.ธวัชกล่าว พร้อมกับให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาการวิจัยในประเทศไทยยังเป็นการวิจัยแบบอยู่ในหอคอยงาช้างหรือเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้งอยู่เยอะ จึงควรต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจากนักวิจัยอาวุโสที่คร่ำหวอดในการทำวิจัยและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิด จัดทำแผนยุทธศาสตร์ ดูแลการแจกจ่ายงบประมาณรัฐไปยังหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ และติดตามผลการวิจัยด้วย
ทั้งนี้สสวท.จัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"วิทยาศาสตร์เพื่อเยาวชน"ระหว่างวันที่14-15มีนาคม2549 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการเสวนา การบรรยายและจัดแสดงผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่าสี่ร้อยหัวข้อจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก และนักวิทยาศาสตร์ในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(พสวท.)และโครงการอื่น ๆ และนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูรายละเอียดได้ในเว็บไซด์www.ipst.ac.th/dpst