กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ซียูอีแอล
ซียูอีแอล พลิกวิกฤตพลังงาน เป็นโอกาส รุกงานต่างประเทศ เตรียมผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่อินเดียเป็นครั้งแรก มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท มั่นใจธุรกิจไปได้สวย พร้อมขยายพื้นที่โรงงานที่แหลมฉบังเพิ่มกว่า 50,000 ตารางเมตร
นายณรงค์ บุณยสงวน กรรมการผู้จัดการ บริษัทซียูอีแอล จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม และงานด้านวิศวกรรมนอกชายฝั่ง ได้เซ็นสัญญาโครงการผลิตปิโตรเลียมที่สำคัญระหว่างประเทศ โดยร่วมกับบริษัทร่วมค้าของประเทศอินเดียนำโดยบริษัท บริติช แก๊ซ อินเดีย เพื่อดำเนินการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมแท็ปติ (Tapti Field) นอกชายฝั่งประเทศอินเดีย กำลังผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ 450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยบริษัทได้ลงนามในสัญญารับงาน 400 ล้านบาท
ทั้งนี้ ระบบต่าง ๆ ของโครงการที่จะทำขึ้นภายใต้สัญญางานประกอบด้วย โครงสร้างฐานแบบ 8 ขาสำหรับแท่นผลิตและเพิ่มแรงดันปิโตรเลียมรวมน้ำหนักประมาณ 2,500 ตัน ฐานรองรับแบบ 4 ขาของแท่นหลุมผลิต และเสาเข็ม รวมน้ำหนักประมาณ 1,200 ตัน และแท่นเผาก๊าซ และสะพานเชื่อม น้ำหนักประมาณ 500 ตัน
โดยขอบเขตงานที่บริษัทซียูอีแอลได้รับครอบคลุมถึงการจัดซื้อจัดจ้าง งานวิศวกรรม งานประกอบ งานระบบการยึดและขนย้ายสู่ทะเล ส่วนการประกอบจะทำขึ้น ณ โรงงานประกอบของบริษัท บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยมีแผนกำหนดให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมขนย้ายออกจากท่าเรือเพื่องานติดตั้งประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. 2550
นายณรงค์ กล่าวเพิ่มว่า แม้ปัจจุบันจะเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตด้านราคาน้ำมัน ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่การดำเนินการของบริษัท ฯ นับว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี โดยบริษัทฯ กำลังขยายพื้นที่ของโรงงานประกอบที่แหลมฉบับ ให้เพิ่มขึ้นอีก 50,000 ตารางเมตร จากเดิม 300,000 ตารางเมตร เป็น 350,000 ตารางเมตร และวางแผนที่จะขยายในโครงการต่อไปอีกประมาณ 200,000 ตารางเมตร นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้การรับรองระบบการปฏิบัติงานตามมาตรฐานระบบการบริหารจัดการคุณภาพ ISO9001: 2000 อย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย
“นับตั้งแต่บริษัทฯ ได้ก่อตั้งในปี 2543 บริษัท ซียูอีแอล ได้ดำเนินธุรกิจการให้บริการแบบผสมผสาน ตั้งแต่ระบบวิศวกรรม ไปจนถึงการประกอบ การติดตั้ง และการคอมมิชชั่นนิ่งปิโตรเลียม แท่นผลิตปิโตรเลียมและแท่นหลุมผลิตนอกชายฝั่ง รวมถึงการวางระบบท่อส่งในทะเล โดยบริษัทได้ผลิตแท่นผลิตปิโตรเลียมที่มีโครงสร้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีโครงสร้างน้ำหนักรวม 4,700 ตัน เพื่อนำสู่แหล่งปลาทอง ในบริเวณอ่าวไทย (รับสัมปทานโดยบริษัทยูโนแคล ไทยแลนด์) และปัจจุบันได้ใช้ผลิตปิโตรเลียมแล้ว โดยมีกำลังผลิตน้ำมันดิบ 2.5 หมื่นบาเรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน” นายณรงค์กล่าว