สถาบันรหัสสากลเปิดตัวศูนย์ EPC/RFID Center แห่งแรกในไทย เพื่อประโยชน์ทางการค้าของประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday March 23, 2006 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ออล สไมส์ คอมมูนิเคชั่น
สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดตัว EPC/RFID แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางในการศึกษาลักษณะการใช้งานที่สมบูรณ์ในระบบ RFID ตามมาตรฐานสากล EPCglobal ที่สามารถช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบ Logistics และ Supply Chain ในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยภายในศูนย์ดังกล่าวจะคลอบคลุมถึงเทคโนโลยี RFID ทั้ง ระบบค้าปลีก (Retail Station) ระบบศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center Station) การรับวัตถุดิบ (Material Receiving) การผลิต และการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูป (Palletizing) การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Station) และการจัดการเพื่อการส่งออก (Packing for Logistic Unit Station) ด้วยระบบ RFID เหล่านี้จะเป็นตัวเร่งในการพัฒนาการค้า และอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างแท้จริง
คุณประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ด้วยอุตสาหกรรม และธุรกิจการค้าของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งสามารถเป็นตัวช่วยให้การทำงานให้มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานในระดับสากล ดังนั้นเทคโนโลยีระบบ RFID จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการทำงานในธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมใหญ่ ๆมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยให้การทำงานรวดเร็ว สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ทุกขั้นตอน และได้รับความน่าเชื่อถือถึงมาตรฐานการผลิตจากผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะได้รับในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ภาพรวมต่อกลุ่มธุรกิจการค้า และคู่ค้าในต่างประเทศทั้งแถบ ยุโรป อเมริกา และภาคพื้นเอเชีย จะมีแนวโน้มให้ผู้ผลิต และผู้ส่งออกต้องมีการติดตั้งระบบ EPC และ RFID มากขึ้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการติดตั้งทั้งในสินค้าที่ส่งออก กล่องบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการขนส่ง และการลำเลียงในการส่งออก
“ปัจจุบันภาครัฐได้ให้ความสำคัญ ในการปรับกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาระบบ RFID ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งรายเล็ก และรายใหญ่มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจ และอุตสาหกรรมในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง และการกระจายสินค้า ซึ่งศูนย์สาธิต และการศึกษาการจัดการ ซัพพลายเชน EPC/ RFID Center จะช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยี RFID ให้ได้ตามมาตรฐานสากล EPCglobal และยังจะเป็นศูนย์กลางในการศึกษาแนวทาง การพัฒนา การนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น พร้อมกันนั้นยังช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ในการเพิ่มขีดจำกัดความสามารถ และยังช่วยเป็นที่ปรึกษา รองรับผลกระทบต่างๆ ที่อาจมีขึ้นได้ในอนาคต” คุณประวิช กล่าวในที่สุด
คุณประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดตัวศูนย์สาธิตเทคโนโลยี EPC/RFID เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี EPC/RFID ตามมาตรฐาน EPCglobal อย่างจริงจังในประเทศไทย ซึ่งในศูนย์แห่งนี้จะคลอบคลุมการทำงานด้านสำคัญต่าง ๆ ในระบบ พร้อมมุ่งในการเผยแพร่ถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบ อาทิ การเริ่มต้นการใช้งานระบบ EPC/RFID ในประเทศไทย มาตรฐานสากลที่ระบบ RFID สามารถใช้งานร่วมกันได้ทั่วโลก การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการการดำเนินธุรกิจ และอุตสาหกรรม การขยายขอบเขตการใช้งาน EPC/RFID ของภาคธุรกิจทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งเลขรหัสสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (EPC) นับได้ว่าเป็นโครงสร้างใหม่ในการกำหนดเลขรหัสให้กับสินค้าที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Auto-ID Center โดยมีสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) เป็นผู้ให้การสนับสนุนการวิจัย และพัฒนา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการกำหนดเลขรหัสสินค้าแต่ละหน่วย ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบบาร์โค้ดมาใช้
คุณประพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เลขรหัส EPC จะเป็นข้อมูลที่ความจำที่บรรจุอยู่ในความจำระบบ RFID Tag สามารถอ่าน และบ่งชี้ข้อมูลต่าง ๆได้ ซึ่งระบบ EPC จะมีลักษณะการนำไปใช้งานได้มากกว่าระบบบาร์โค้ด เนื่องจากระบบ EPC มีโครงสร้างที่มีจำนวนตัวเลขที่มากกว่า จึงสามารถนำไปใช้กำหนดสินค้าทุกชิ้นที่มีเลขรหัสที่ต่างกันได้ทั้งหมด ดังนั้นถึงแม้จะเป็นสินค้าที่ต่างกันก็จะมีเลขหัสที่ต่างกันแต่ละชิ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเทคโนโลยีระบบ RFID (Radio Frequency Identification) ใช้คลื่นวิทยุในการทำงาน การใช้งานเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานภายในบริษัท โดยไม่มีการใช้ร่วมกับองค์กรอื่น ๆ เช่น ระบบควบคุมการเข้า-ออก (Access Control) และการใช้งานระบบร่วมกับองค์กรอื่นที่มีการค้าหรือธุรกิจร่วมกัน เช่นการขนส่ง และการกระจายสินค้า (Logistic and Supply Chain Management) ซึ่งการทำงานในระบบเทคโนโลยี EPC และ RFID ได้เริ่มมีการทดลองใช้ในกลุ่มต่าง ๆแล้ว ได้แก่ Walmart Tesco Metro target และในประเทศไทย เช่น เอสเทิรส ดิจิตอล, กลุ่มซีพี ด้วยการนำเทคโนโลยี EPC และ RFID เข้าไปใช้งาน”
คุณสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ศูนย์การแสดงและสาธิตการใช้งานเทคโนโลยี EPC/RFID Center ได้แบ่งจุดแนะนำ ให้บริการในการวิจัยและพัฒนาออกเป็นทั้งสิ้น 6 จุด ตั้งแต่ ระบบค้าปลีก (Retail Station) ที่แสดงถึงการใช้งานเทคโนโลยี EPC/RFID ณ จุดชำระเงิน (POS) การตัดสต๊อกสินค้าหลังร้าน การชำระเงิน รวมถึงระบบ EDI ในการสั่งซื้อรอบใหม่ ระบบศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center Station) จุดที่รับคำสั่งซื้อจากจากร้านค้าปลีกผ่านระบบ EDI แล้วนำข้อมูลไปใช้ต่อทันที ในการตรวจสอบ สต๊อกสินค้าในคลัง การระบุสถานที่จัดเก็บ และปริมาณสินค้าที่เหลืออยู่ การดำเนินงานซื้อตามใบสั่งซื้อ โดยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี EPC/RFID เข้าร่วมด้วย รวมถึงกระบวนการในการส่งข้อมูลยืนยันการจัดส่งสินค้า และหากสินค้าไม่เพียงพอก็จะจัดส่งไปยังผู้ผลิต การรับวัตถุดิบ (Material Receiving) เป็นการตรวจสอบความถูกต้อง และเปรียบเทียบวัตถุดิบที่ส่งมากับข้อมูลที่ได้รับตรงกันหรือไม่ หากตรงจึงรับเข้าโรงงานการผลิต และการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูป (Palletizing) โดยการนำข้อมูลบันทึกลงใน Tag เพื่อติดควบคุมบนแพลเล็ต แสดงการตรวจสอบข้อมูลด้วย RFID เพื่อสามารถติดตามสอบกลับถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแจ้งข้อมูลการส่งเป็นอิเล็กทรอนิกส์ยังคลังสินค้า การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Station) เมื่อสินค้ามาถึงจะทำการ Scanning SSCC การอ่านข้อมูลใน Tag เพื่อในการรับสินค้าและกำหนดตำแหน่งที่จะจัดเก็บ และนำเข้าอย่างถูกต้องแม่นยำ รวมถึงการจ่ายสินค้าตามรูปแบบ FIFO สินค้าเข้าก่อนจ่ายก่อน และสินค้าหมดอายุที่เข้าก่อนจ่ายก่อน และการจัดการเพื่อการส่งออก (Packing for Logistics Unit Station) เป็นเครื่องมือในการจัดสินค้า เพื่อสามารถจัดได้อย่างถูกต้อง และสามารถติดต่อสอบกลับถึงแหล่งที่มาได้ และแจ้งข้อมูลการส่งสินค้าไปยังลูกค้าได้ทันเวลาที่ลูกค้าต้องการถูกต้อง
“จากการเปิดศูนย์การสาธิต และการใช้งานเทคโนโลยี EPC/RFID ก็เพื่อเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยนำระบบ EPC/RFID มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าโลก และมุ่งส่งเสริมให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ RFID ผู้พัฒนาระบบ และผู้ใช้งาน สามารถเข้าใจกระบวนการการทำงานของเทคโนโลยี EPC/RFID ในการนำมาใช้ในเชิงพานิชย์ และกระบวนการบริหารจัดการ Supply Chain ตามมาตรฐานสากลที่ตรงกัน พร้อมส่งเสริมให้การใช้งาน และการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ และสร้างโอกาสทางการค้ากับผู้ผลิตอุปกรณ์ RFID ผู้พัฒนาระบบ และผู้ใช้งานต่อไป นอกจากนั้นในวันนี้ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของ EPCglobal เพื่อการพัฒนามาตรฐานสากล” EPC/RFID จาก Mr. Chris Adcock, President, EPCglobal Inc. และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “EPC/RFID for Industries Application” จาก Mr. lan Robertson, Global Industry Development Director, EPCglobal Inc. ซึ่งจะสามารถช่วยให้ประยุกต์เทคโนโลยีดังกล่าว ในแต่ละสาขา และแนวโน้มการใช้งานในอนาคตอีกด้วย” คุณสันติ กล่าวในที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand)
สถาบันรหัสสากล หรือ (GS1Thailand) เป็นนายทะเบียนดูแลการใช้งานเลขรหัสสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ EPC/RFID ตามมาตรฐานของ EPCglobal และเป็นองค์กรสมาชิกหนึ่งของ EPCglobal ในชื่อ ของ EPCglobal Thailand ซึ่งทำหน้าที่ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี การใช้เลขรหัสสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ EPC ร่วมกับเทคโนโลยี RFID ซึ่งในปัจจุบันนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในเชิงพานิชย์ การบริการ และกิจกรรมในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีก้าวต่อไปที่จะเข้ามาแทนที่บาร์โค้ดในระบบปัจจุบันมากขึ้น
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท ออล สไมส์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร/แฟกซ์ 0-2909-8530
นายจตุพล ศิริเดช, น.ส.นวธิดา บัวโชติ, น.ส.กรรณิกา สายพันธุ์
0-1423-8606, 0-9107-9809, 0-1269-7731

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ