พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จเปิดอาคารหลบภัยสึนามิ บ้านบางเนียง พังงา

ข่าวทั่วไป Wednesday December 27, 2006 09:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--ปภ.
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงร่วมเป็นประธานพิธีเปิดอาคารหลบภัยเฉลิมพระเกียรติฯ และทอดพระเนตรการฝึกซ้อมหนีภัยสึนามิ ซึ่งกรมป้องกันฯได้ร่วมกับจังหวัดพังงาเป็นเจ้าภาพในการจัดงานดังกล่าว ในวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2549 ณ บ้านบางเนียง จังหวัดพังงา
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย ดำเนินการจัดตั้งต้นแบบในการหนีภัยสึนามิระดับชุมชนขึ้น เพื่อให้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ดูงานและเรียนรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้สร้างอาคารหลบภัยเฉลิมเกียรติ 48 พรรษา พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ และระบบสนับสนุนต่างๆ ที่วัดพนัสนิคม บ้านบางเนียง ต.คึกคัก
อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งขณะนี้ได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก จึงได้กำหนดให้มีพิธีเปิดอาคารหลบภัยเฉลิมพระเกียรติฯ และการฝึกซ้อมหนีภัยการใช้อาคารและระบบสนับสนุนต่างๆ ในวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2549 เวลา 14.00 — 17.00 น โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา ทรงร่วมเป็นประธานพิธีเปิดอาคารหลบภัยเฉลิมพระเกียรติฯ และทอดพระเนตรการฝึกซ้อมหนีภัย การใช้อาคารและทดสอบระบบสนับสนุน ระบบเตือนภัยต่างๆในพื้นที่ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับจังหวัดพังงา เป็นเจ้าภาพในการจัดงานดังกล่าว
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า พื้นที่บ้านบางเนียง มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบ ทำให้เมื่อเกิดคลื่นสึนามิ จึงไม่สามารถหลบหนีภัยขึ้นที่สูงได้ทัน ดังนั้น จึงต้องสร้างอาคารหลบภัยขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว โดยอาคารหลบภัย ที่จัดสร้างขึ้นนี้ ถือเป็นต้นแบบของอาคารหลบภัย ที่จะนำไปขยายผลการพัฒนาให้มีการสร้างขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป และเพื่อให้การฝึกซ้อมหนีภัย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรมป้องกันฯ จึงได้ประสานให้จังหวัดพังงา ดำเนินการจัดงานในรูปคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา เป็นผู้ช่วยเลขานุการฯ มีหน้าที่ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน กำหนดแผนอพยพและขั้นตอนการฝึกซ้อมหนีภัย ร่วมกับชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยให้ปรับปรุงรายละเอียดพื้นที่เสี่ยงภัย จุดอพยพและเส้นทางการอพยพ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งนี้ ได้กำหนด ให้มีการฝึกซ้อมเป็นระยะๆ ก่อนที่จะมีการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบในวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2549 เพื่อให้การจัดงาน และ การซ้อมแผนเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ และสอดคล้องกับแนวทางที่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก สภากาชาดไทยกำหนดขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ