กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะสั้น ที่ระดับ ‘F1+(tha)’ แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่าไม่เกิน 15 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 270 วัน ซึ่งจะออกโดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (“SCBT”) หุ้นกู้ดังกล่าวนี้ จะทำการออกจำหน่ายเป็นชุด ตลอดระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ที่ระดับ ‘AA+(tha)’
อันดับเครดิตของ SCBT มีพื้นฐานมาจากการที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดแห่งอังกฤษ (“SC” ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลที่ ‘A+’/‘F1’) ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีอำนาจในการบริหารธนาคาร การเปลี่ยนแปลงใดๆในสัดส่วนการถือหุ้นของ SC ใน SCBT หรือการสนับสนุนของ SC ที่มีต่อ SCBT ย่อมส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBT เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของ SCBT ที่ระดับ ‘A-’ (A ลบ) ในขณะนี้ ถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (ซึ่งอยู่ที่ระดับ ‘A-’ (A ลบ)) การเปลี่ยนแปลงใดๆของเพดานอันดับเครดิตของประเทศ (ซึ่งอยู่สูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศของประเทศไทยอยู่ 1 อันดับ) จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBT
SC แห่งอังกฤษ ได้ชี้แจงว่า SCBT จะร่วมเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายของธนาคารในภูมิภาคเอเชียซึ่งประกอบด้วยธนาคารต่างๆซึ่งก่อตั้งและดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลานานทั้งในฮ่องกง, สิงคโปร์, อินเดีย และมาเลเซีย SC มีความตั้งใจที่จะถือหุ้นในเชิงกลยุทธ์ใน SCBT ในระยะยาว รวมถึงการมีอำนาจควบคุมการบริหารธนาคารในคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ SCBT ในเดือนตุลาคม 2548 SC ได้ทำการควบรวมการปฏิบัติงานของสาขากรุงเทพเข้ากับ SCBT เสร็จสิ้น โดยมีสินทรัพย์รวมกันหลังการควบรวมจำนวน 140 พันล้านบาท และได้เพิ่มขึ้นเป็น 179 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 ในขณะที่ข้อจำกัดในการถือหุ้นของต่างชาติอาจจะจำกัด SC ในการเพิ่มเงินลงทุนใน SCBT หลังจากปี 2552 แต่ SC ยังคงมีความยืดหยุ่นที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานเงินทุนของ SCBT ก่อนปี 2552 ให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจในระยะยาว โดยมุ่งหวังที่จะจำกัดผลกระทบจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBT ของ SC ให้น้อยที่สุด เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและทรัพยากรของ SC ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง SC ในกรณีที่มีความจำเป็น
ในปี 2548 SCBT รายงานผลกำไรสุทธิที่ 1.8 พันล้านบาท หลังจากการตั้งสำรองหนี้สูญจำนวน 1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 764.7 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า ผลกำไรก่อนหักภาษีเงินได้ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่งกว่า ที่ระดับ 2.2 พันล้านบาท จาก 764.7 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2549 ผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 พันล้านบาท จาก 211 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2548 ในขณะที่ผลกำไรก่อนหักภาษีเงินได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 1.6 พันล้านบาท ผลการดำเนินงานหลักที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งมากของการให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน รายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ปรับตัวดีขึ้น และรายได้จากค่าธรรมเนียมและการปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่สูงขึ้น
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCBT ที่ 2.7 พันล้านบาท (3% ของสินเชื่อทั้งหมด) ในขณะที่ระดับการกันสำรองหนี้สูญอยู่ที่ระดับ 3.2 พันล้านบาท โดยระดับการกันสำรองหนี้สูญดังกล่าวเท่ากับ 116.3% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด และเท่ากับ 82.6% ของยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมกับหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่สูงของการให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อย ซึ่งค่อนข้างผันผวน อาจส่งผลให้การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงสภาวะการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลง
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 เงินกองทุนทั้งหมดของ SCBT อยู่ที่ระดับ 13.3% ของสินทรัพย์เสี่ยง (RWA) โดยเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ระดับ 12.8% แม้ว่าการเติบโตของสินทรัพย์ในอนาคตอาจส่งผลให้อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลง ความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพน่าจะช่วยให้อัตราเงินกองทุนยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับธนาคารอื่น
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963