กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชุมผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 14 จังหวัด
ภาคใต้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูมรสุม และลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากภัยน้ำท่วม ดินถล่ม
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังเป็น
ประธานการประชุมการเตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ขณะนี้ภาคใต้ของไทย เริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุมแล้ว ซึ่งอาจจะมีพายุหมุนเขตร้อน (พายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชั่น) ซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก เคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ และอาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยได้ ผนวกกับร่องฝนได้เคลื่อนตัวพาดผ่านภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้น พายุ ลมพัดแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม หรือที่ใกล้ทางน้ำไหล ได้ ในการนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จึงได้จัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ในพื้นที่ภาคใต้ โดยผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าโครงการชลประทานจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ทุกจังหวัด และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้แทนจากกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา กระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานๆ ต่าง ได้ บูรณาการการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งด้านกำลังคน เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ ให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนได้กำชับให้จังหวัดนำฐานข้อมูลทางเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัย มาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มการเกิดภัย เพื่อจักได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย โคลนถล่ม ในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ของกรมป้องกันฯ ว่า ได้กำชับและสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์, เขต 11 สุราษฎร์ธานี, เขต 12 สงขลา รวมถึงสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เตรียมพร้อมทั้งด้านกำลังคน เครื่องมือ เครื่องจักรกล เพื่อให้การสนับสนุนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันที ตลอดจนได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีเหตุผิดปกติ จะได้ประสานจังหวัด ให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทราบในทันที จะได้ย้ายทรัพย์สิน สิ่งของ และอพยพออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย สุดท้ายนี้ ขอให้พี่น้องชาวใต้อย่าได้วิตกกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูมรสุมดังกล่าว เนื่องจากกรมป้องกันฯ ได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้เตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแล้ว จึงเชื่อมั่นได้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในปีนี้จะไม่รุนแรงอย่างปีที่ผ่านๆ มา และความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ก็จะลดน้อยลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ใดสถานการณ์ภัยรุนแรง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งประสานให้หน่วยงานในสังกัดให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนต่อไป--จบ--