เอไอเอส โมบายไลฟ์ เปิดตัวบริการใหม่ “Barcode Access” มิติใหม่ของการเข้าถึงคอนเทนต์บนมือถือได้ง่ายดายที่สุด!

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday January 17, 2006 13:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--เอไอเอส
เอไอเอส โมบายไลฟ์ เปิดตัวบริการใหม่ “Barcode Access”
มิติใหม่ของการเข้าถึงคอนเทนต์บนมือถือได้ง่ายดายที่สุด !!
พร้อมปักธงเทคโนโลยีใหม่ 2D Barcode เป็นรายแรกของไทย
เอไอเอส โมบายไลฟ์ ตอกย้ำความเป็นผู้นำแห่งนวัตกรรมบนมือถือ เปิดศักราชใหม่ ด้วยบริการสุดล้ำ “Barcode Access” มิติใหม่ของการเข้าถึงคอนเทนต์บนมือถือได้อย่างง่ายดายที่สุด!! เท่าที่เคยมีมา และเป็นครั้งแรกของเมืองไทยกับเทคโนโลยีใหม่ 2D Barcode แค่ใช้กล้องบนมือถือส่องที่บาร์โค้ด เพียงเสี้ยววินาที ก็จะพาเข้าสู่โลกของข้อมูลข่าวสาร และสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ได้ทันที และยังเป็นดัง บาร์โค้ดเอนกประสงค์ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมากมาย อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสานต่อแนวคิด Industry Convergence ได้อย่างชัดเจน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานธุรกิจสื่อสารไร้สาร เอไอเอส เปิดเผยว่า “ เอไอเอส มิใช่เพียงแต่มุ่งสร้างสรรค์บริการ หรือคอนเทนต์บนมือถือให้หลากหลายโดนใจลูกค้าทุกกลุ่มเท่านั้น เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงบริการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าไปใช้บริการได้อย่างสะดวก และง่ายดายที่สุด โดยได้เปิดศักราชใหม่ รับปี 2549 ด้วยนวัตกรรมล่าสุดเป็นครั้งแรกของเมืองไทยกับบริการ “Barcode Access” (บาร์โค้ด แอ็คเซส) ที่เป็นดังตัวช่วยพิเศษของเหล่าบริการเสริม ในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดายที่สุด ทำให้ลูกค้าสามารถรับข้อมูลข่าวสาร และร่วมสนุกกับกิจกรรมต่างๆ รอบตัว ได้ง่ายๆ เพียงนำกล้องของมือถือไปส่องที่บาร์โค้ดที่ติดอยู่บนสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ เพียงเสี้ยววินาที มือถือก็จะทำการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านเครือข่าย GPRS เข้าสู่หน้าสินค้าและบริการที่ต้องการทันที โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องจดจำรหัส หรือพิมพ์ URL อย่างที่เคย นับเป็นการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในการใช้มือถือให้กับลูกค้า
ทั้งนี้ เอไอเอสจะผลิตบาร์โค้ดพิเศษนี้ขึ้นโดยเฉพาะ เรียกว่า 2D Barcode (2 Dimension Barcode) ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากบาร์โค้ดทั่วไป โดยเป็นแบบ 2 มิติ มีแถบรหัสผสมกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน แม้จะมีขนาดพื้นที่เล็กกว่าบาร์โค้ดแบบเดิม แต่สามารถบรรจุข้อมูลได้มากกว่า และที่สำคัญจะเป็นข้อมูลที่อัพเดท และทันสมัย เพราะเจ้าของสินค้านั้นสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ใหม่ตลอดเวลา
Barcode Access จึงเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งธุรกิจบันเทิง, ทีวี, หนัง, เพลง, การท่องเที่ยว, การขนส่ง, คอนซูเมอร์ โปรดักซ์ ฯลฯ ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในมิติต่างๆ ได้อย่างมากมาย อาทิ
Content Download เพื่อเข้าสู่หน้าคอนเทนต์นั้น และสามารถดาวน์โหลดได้ทันที
Advertising ใช้เป็นสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เช่น ติดบาร์โค้ดบนโปสเตอร์ภาพยนตร์ เพื่อให้ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง เป็นต้น
Event เพื่อร่วมสนุกกับกิจกรรมและโปรโมชั่นของสินค้าและรายการต่างๆ เช่น เล่นเกมชิงรางวัล, สมัครสมาชิกออนไลน์, จองตั๋วร่วมงาน, ร่วมโหวตกับรายการทีวี ฯลฯ
Product Code เพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์
Personal Code ในอนาคต จะพัฒนาเป็นช่องทางในการเข้าถึง Personal Wap แบบรายบุคคล
Mobile Shopping เป็นทางลัดเข้าถึงสู่การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านมือถือ
Digital Guide ใช้บอกทิศทางสถานที่ เช่น ติดบาร์โค้ดที่สถานีรถไฟฟ้า เพื่อดูเส้นทางแผนที่ไปยังห้างร้านค้า หรือสถานบริการต่างๆ
ขณะนี้ เอไอเอสได้ร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในแวดวงธุรกิจต่างๆ นำ Barcode Access ไปติดในสื่อโฆษณาฯ และบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเพื่อให้ลูกค้าของเอไอเอสเข้าไปใช้บริการได้อย่างสะดวกง่ายดาย อาทิ ไทยแลนด์ เยลโลเพจเจส, ซีเอส ล็อกอินโฟ, ชินนี่, โมบี้คลับ จากอาร์เอส, ดีพีซี , ไอทีวี, เอ็มเพย์, ฮอนด้า โดยมีบริษัทผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ร่วมพัฒนามือถือให้สามารถรองรับโปรแกรมดังกล่าวด้วยได้แก่ โนเกีย, โซนี่ อีริคสัน, โมโตโรล่า ซึ่งปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือที่รองรับการใช้งานในตลาดรวมกว่า 5 แสนเครื่อง
ลูกค้าเอไอเอสสามารถดาวน์โหลดโปรแกรม Barcode Access ได้ฟรี โดยไม่คิดค่าบริการ(คิดเพียงค่า GPRS) ผ่านทางเว็บไซต์ www.mobilelife.ais.co.th ,โมบายไลฟ์พลาซ่าที่ wap.mobilelife.ais.co.th หรือทาง IVR กด *665 ระบบจะส่ง Bookmark กลับมา เพื่อให้ดาวน์โหลดโปรแกรมลงเครื่องได้เลย
และนี่คือจุดเริ่มต้นของเอไอเอสในปี 2549 ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ของ Industry Convergence ที่ต้องการผสมผสานบริการสื่อสารไร้สายเข้ากับอุตสาหกรรมอื่นๆ รอบตัว เพื่อให้เกิดบริการที่หลากหลายและประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ใช้บริการต่อไป” นายสมชัย กล่าวปิดท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สุดาพร (ยีน) PR/AIS โทร. 0 1920 6611, 0 2687 4127,
e-mail : sudaporw@ais.co.th
FACT SHEET
ตัวอย่าง การนำบาร์โค้ดไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ในด้านต่างๆ ของพันธมิตร
ไทยแลนด์ เยลโลเพจเจส หรือสมุดหน้าเหลือง ติดบาร์โค้ดไว้ที่หน้าปก และบริเวณสารบัญ หรือในหน้าโฆษณาต่างๆ เพื่อใช้เชื่อมต่อไปหาเบอร์โทรศัพท์หรือข้อมูลต่างๆ
ซีเอส ล็อกอินโฟ ติดบาร์โค้ดที่แพ็คเกจชั่วโมงอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เสนอขายโปรโมชั่นต่างๆ
ชินนี่, โมบี้ คลับ จากอาร์เอส ติดบาร์โค้ดที่สื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น นสพ., แผ่นพับ, ใบปลิว เพื่อเข้าไปดาวน์โหลดคอนเทนต์ผ่านมือถือได้ทันที
ดีพีซี ติดบาร์โค้ดที่หน้ากล่องมือถือ เพื่อให้เข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรมซอฟแวร์ต่างๆ ได้อย่างสะดวก
ฮฮนด้า ติดบาร์โค้ดที่แผ่นพับโฆษณา เพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ฮอนด้า ซีวิค
เอ็มเพย์ ติดบาร์โค้ดบนสัญลักษณ์ของเอ็มเพย์ตามหน้าเคาน์เตอร์หรือร้านค้าต่างๆ และในสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์ เพื่อให้ลิงค์เข้าใช้บริการบนหน้าแว็บพอร์ทัลของเอ็มเพย์ได้อย่างสะดวก
ไอทีวี ติดบาร์โค้ดบนสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์ เพื่อให้เข้าไปติดตามข่าวสารบ้านเมืองได้ที่แว็บพอร์ทัลของไอทีวี ซึ่งเป็นดังสถานีข่าวเคลื่อนที่บนมือถือ และในอนาคต วางแผนว่าจะปรากฏบาร์โค้ดบนหน้าจอทีวี เพื่อให้ผู้ชมสามารถร่วมสนุกกับกิจกรรมพิเศษของทางสถานทีได้ทันที ซึ่ง ปัจจุบันกำลังทำการทดสอบระบบเพื่อให้ใช้กับหน้าจอทีวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยระยะแรกของการให้บริการ มีโทรศัพท์มือถือที่รองรับโปรแกรม Barcode Access ดังนี้
โนเกีย รุ่น 7650, 3650, 3660, 7610, 6600, 6630, 6270, 6670, 3230, 6680, 6681, 9500, 7710, N70, N90
โซนี่ อีรีคสัน รุ่น P900, P901, K300i, K500i, K700i, Z520i, W800i, K750i, Z800, K600i, S700
อื่นๆ ได้แก่ ซีเมนส์ S65, พานาโซนิค X700, X800
พร้อมกันนี้ เอไอเอสยังได้ร่วมกับดีพีซี หรือผู้จัดจำหน่ายมือถือเอ็ม เอฟ เอ ทำการติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวลงในเครื่องก่อนวางจำหน่าย เพื่อให้ผู้ที่ซื้อมือถือไปได้สัมผัสกับบริการนี้ทันที และยังวางแผนจะขยายการพัฒนาไปยังมือถือรุ่นอื่นๆ เพิ่มเติมอีก--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ