กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สำนักงานพืชสวนโลก
คณะทำงานสาธารณสุขแนะนำคนเที่ยวงานราชพฤกษ์ 2549 เตรียมอุปกรณ์กันร้อนและหนาวให้พร้อม สรุปตั้งแต่เปิดงานมีคนเข้าไปใช้บริการตามจุดบริการด้านสาธารณสุขเฉลี่ยวันละ 60-100 ราย และภายในสัปดาห์นี้เตรียมหารือร้านอาหาร ให้นำอาหารเข้ามาไปขายได้ 2 ครั้งต่อวัน
ทพ.ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในคณะทำงานด้านสาธารณสุขในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 เปิดเผยว่า ช่วงนี้จังหวัดเชียงใหม่เริ่มมีอากาศเย็นลงแล้ว แต่อุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนจะต่างกันมาก คือตั้งแต่ช่วงใกล้เที่ยงถึงบ่ายอากาศจะร้อนจัด พอถึงกลางคืนอากาศจะเย็น ซึ่งช่วงกลางวันอาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าไปเที่ยวงานมหกรรมพืชสวนโลกพอสมควร ดังนั้นอยากจะเตือนไปยังผู้ที่จะเดินทางมาเที่ยวงานให้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันความร้อนและแสงแดดให้พร้อม ทั้งหมวก ร่ม รองเท้าควรจะสวมใส่สบาย ที่สำคัญควรจะเตรียมน้ำให้เพียงพอ เพราะเดินเที่ยวในช่วงอากาศร้อนๆ อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้
ทพ.ดร.สุรสิงห์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยู่นอกพื้นที่อาจจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะร่างกายไม่เคยชินกับลักษณะอากาศแบบภาคเหนือ จึงอาจจะต้องหาเสื้อกันหนาวมาด้วย และควรจะสวมทับทันทีหากจะเข้าไปในจุดที่อุณหภูมิต่ำ เช่น อาคารที่จัดแสดงไม้เมืองหนาว เป็นต้น
ส่วนงานด้านการให้บริการสาธารณสุขนั้น ทพ.ดร.สุรสิงห์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มงานราชพฤกษ์ 2549 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2549 เป็นต้นมา พบว่าผู้ที่เข้ามาเที่ยวงานและเข้าไปใช้บริการหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่โดยเฉลี่ยแล้ววันละ 60-100 ราย ส่วนใหญ่จะมีอาการทั่วๆ ไปคือปวดหัว เป็นไข้ ปวดเมื่อย ท้องเสีย บางรายเข้าขอยาจากจุดบริการก็กลับไป จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยอาการหนัก
“ขณะนี้เรามีจุดให้บริการอยู่ 3 จุดคือที่ศูนย์บริการผู้เข้าชมงาน บริเวณประตูทางเข้า, หอคำหลวง และศูนย์เรียนรู้ ภายในอาคารนิทรรศการถาวร ถ้านักท่องเที่ยวท่านใดมีปัญหา เป็นไข้ไม่สบาย สามารถเข้าไปปรึกษาได้ ซึ่งทุกจุดจะมีแพทย์และพยาบาลคอยดูแลอยู่” ทพ.ดร.สุรสิงห์ กล่าว
รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยด้วยว่า เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและอาหารการกิน คณะทำงานจะมีการประชุม เพื่อหารือกันภายในสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับการตกลงกับร้านค้าต่างๆ ที่นำอาหารเข้าไปภายในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 เพื่อให้ร้านค้าต่างๆ นำอาหารหรือวัสดุที่ใช้ในการประกอบอาหาร เข้าไปในบริเวณงานวันละ 2 คือช่วงเช้า และช่วงเที่ยง เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้รับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย” ทพ.ดร.สุรสิงห์ กล่าวในที่สุด