กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--ปตท.
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ของ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. จำกัด เป็นผู้ลงนามกับ นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. กฟผ.
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยจะเป็นเชื้อเพลิงหลักให้กับโรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะช่วยทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง สามารถประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันที่ปัจจุบันได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก อีกทั้งเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า และ ภาคอุตสาหกรรม
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าน้ำพองของ กฟผ. จะใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซน้ำพองและแหล่งก๊าซภูฮ่อม ที่ ปตท. ได้จัดหามาเพิ่มเติม และได้ลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งภูฮ่อมไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2548 เมื่อรวมปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งสองแหล่ง ปตท. จะส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าน้ำพอง ได้เฉลี่ย 108 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพองนี้ มีอายุสัญญา 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2564 เริ่มส่งก๊าซฯ ในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 มีมูลค่าซื้อขายก๊าซฯ ตลอดอายุสัญญาคิดเป็นเงินประมาณ 72,000,000,000 บาท (เจ็ดหมื่นสองพันล้านบาท)
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท. ในฐานะหน่วยงานที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ได้วางแผนในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อให้เพียงพอและทันกับความต้องการใช้ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งนอกจาก ปตท. จะสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศได้ตลอดเวลาแล้ว ปตท. ยังได้เร่งขยายขีดความสามารถระบบ
ท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งทางตะวันตกและทางตะวันออก ทำให้ประเทศสามารถจัดหาก๊าซฯ ได้ในปริมาณ
ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศแล้ว ยังจะเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ผลิตได้ในประเทศ ในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และ การขนส่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบในภาวะวิกฤตราคาน้ำมัน และช่วยให้ประเทศสามารถประหยัดเงินตราจากการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศด้วย
นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กฟผ. เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าน้ำพอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ จังหวัดขอนแก่น เริ่มเดินเครื่องมาตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2533 ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งในชุดแรกที่ 355 เมกะวัตต์ และได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม อีก 1 ชุด ขนาดเท่ากับชุดแรก ในเดือนมีนาคม 2536 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เพิ่มขึ้นด้วยกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 710 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากแหล่งน้ำพองเป็นเชื้อเพลิงหลัก และด้วยปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติจากแหล่งน้ำพองที่ลดลงเป็นลำดับ ทำให้ กฟผ. ต้องส่งกระแสไฟฟ้าเสริมระบบจากภาคเหนือและภาคกลางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นการพบก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภูฮ่อม ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีเพิ่มเติม และได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. และ กฟผ. ในวันนี้ จึงนับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่นอกจากจะทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าน้ำพองสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ จากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงอย่างเต็มที่แล้ว ยังจะช่วยประเทศประหยัดเงินตรา จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมธุรกิจในภาคการผลิตก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และ ธุรกิจต่อเนื่องในระดับภูมิภาคของประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานและการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
โทรศัพท์ 0-2537-3217 ส่วนประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
โทรสาร 0-2537-3211 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)--จบ--