พม.จัดเสวนาสื่อ ICT กับอนาคตเด็กและเยาวชนไทย ชี้วัยรุ่นเปิดรับสื่อมากขึ้น หนุนขับเคลื่อน แผนยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กและเยาวชน

ข่าวทั่วไป Friday March 12, 2010 11:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สป.พม. พม.จัดเสวนาสื่อ ICT กับอนาคตเด็กและเยาวชนไทย ชี้วัยรุ่นเปิดรับสื่อมากขึ้น หนุนขับเคลื่อน แผนยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กและเยาวชน สร้างทักษะรู้เท่าทันสื่อและเลือกเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการตามประเด็นสถานการณ์ทางสังคม เรื่อง “สื่อ ICT กับอนาคตเด็กและเยาวชนไทย ” โดยมีองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ร่วมถกประเด็นปัญหาพฤติกรรมการบริโภคสื่อของเด็กและเยาวชนไทย เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนและพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ณ โรงแรม รอยัลริเวอร์ กทม. นางสุกัญญา เวชศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแด็ก สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่ไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะสื่อสารเทคโนโลยี ทำให้พฤติกรรมการเปิดรับสื่อของเด็กและเยาวชนมีมากขึ้น โดยจากการสำรวจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตามโครงการ Child Watch พบว่า เด็กใช้เวลากับสื่อมากขึ้น มีเด็กที่เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นประจำเพิ่มเป็นร้อยละ 31 และใช้เวลาไปกับสื่อโทรทัศน์ เฉลี่ยวันละ 160 นาที หรือเกือบ 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษากว่าร้อยละ 90 มีโทรศัพท์มือถือ นางสุกัญญา กล่าวต่อว่า การเปิดรับสื่อที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดพฤติกรรมเสี่ยง จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนมาเป็นกลไกในการใช้เป็นแนวทางการป้องกันปัญหาและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชน ให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กและเยาวชน โดยที่ผ่านมาประเทศไทย มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการพัฒนาเด็ก ตามแนวทาง “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” ในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2559 โดยหนึ่งในนั้น คือยุทธศาสตร์ด้านสื่อมวลชน ที่มีมาตรการหลักในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ของสื่อมวลชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนได้เข้าถึงข้อมูลความรู้ ที่สร้างสรรค์ เสริมสร้างสติปัญญา อารมณ์ สังคมและจริยธรรม นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์ประเด็นสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ โดยกระทรวงฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพัฒนา รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่อาจมีผลกระทบในทางลบต่อเด็กและเยาวชน ได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยดำเนินการสนับสนุนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมเสนอความเห็นในรูปแบบของสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว รศ.ดร.วิลาสิณี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สื่ออินเทอร์เน็ต ถือเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วและขยายวงกว้างไปทั่วทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน การวางยุทธศาสตร์การทำงานในการพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาเนื้อหาสื่อ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายออนไลน์เชิงบวก และขยายพื้นที่สร้างสรรค์ในการทำกิจกรรม โดยที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ต้องอยู่ที่ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงตัวเด็ก ครอบครัว โรงเรียน รวมทั้งผู้ประกอบการ ที่จะมีส่วนช่วยสำคัญทำให้การพัฒนายุทธศาสตร์ประสบผลสำเร็จ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ