สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯร่วมมือสปสช. พัฒนายุทธศาสตร์เชิงรุกด้านยา หนุนเภสัชกรเพิ่มบทบาทวิชาชีพ

ข่าวทั่วไป Monday March 15, 2010 07:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ สปสช. ปรับยุทธศาสตร์ยาใหม่ปี 53 เน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อประกันคุณภาพด้านยา และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง พร้อมหนุนเภสัชกรเพิ่มบทบาทวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ โดยมีสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ ร่วมสร้างภูมิความรู้ด้านยาและการดูแลสุขภาพแก่เภสัชกรทั่วประเทศ เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “เภสัชกรกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เมื่อเร็วๆนี้ว่า ตลอด 7 ปีที่ประเทศไทยได้นำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้นั้น ทำให้มีประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามารับบริการ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายๆ ด้าน อาจทำให้ประชาชนยังได้รับบริการไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ดี ทางสปสช.ได้พยายามพัฒนาระบบในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยในปี 2553 นี้ทางสปสช.ได้พัฒนายุทธศาสตร์ใหม่ด้านยา และได้ร่วมกับสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จัดงานสัมมนาเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้และสร้างมาตรฐานด้านการบริหารยา พร้อมทั้งสนับสนุนให้เภสัชกรโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้ามามีบทบาทในการให้บริการด้านยาที่มีคุณภาพ และเข้าถึงชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยได้จัดสัมมนาขึ้นที่ จ.เชียงใหม่เป็นจังหวัดแรก และจะจัดอีก 3 ครั้งตามภูมิภาคต่างๆ ต่อไป สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ในการพัฒนาด้านเภสัชกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น มีทั้งหมด 5 หัวข้อหลัก คือ 1. เน้นการจัดหาและกระจายยาที่จำเป็นให้กับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง 2. พัฒนาระบบข้อมูลด้านยาโดยเน้นการใช้รหัสมาตรฐานยา 24 หลักเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันในอนาคต 3. สนับสนุนการประกันคุณภาพยา โดยสร้างความเข้มแข็งให้แก่คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดในระดับจังหวัดและแต่ละหน่วยบริการ 4. สร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นให้เข้ามามีบทบาทในระบบยาในระบบหลักประกันสุขภาพโดยสนับสนุนเภสัชกรลงไปปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน 5. เสริมสร้างประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดหาและจ่ายชดเชยค่ายาในระบบหลักประกันฯ “ขณะเดียวกัน สปสช. ยังได้ปรับลดขั้นตอนการกระจายวัคซีนลง จากเดิมที่จะต้องส่งต่อวัคซีนผ่านหลายหน่วยงาน เปลี่ยนเป็นกระจายวัคซีนจากองค์การเภสัชกรรมสู่โรงพยาบาลโดยตรง โดยเภสัชกรจะมีบทบาทในการประกันคุณภาพวัคซีน ทั้งในแง่ของการควบคุมมาตรฐานในการเก็บรักษาวัคซีน และการบริหารคลังยา เพื่อให้วัคซีนคงไว้ซึ่งคุณภาพจนกระทั่งถึงมือประชาชน สอดคล้องกับนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่สนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานอย่างเท่าเทียม” ด้าน ภก.วิพิน กาญจนการุณ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการโรคและยาเฉพาะ ในโรคเรื้อรัง และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค ไตวายเรื้อรัง และ ฮีโมฟีเลีย เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการและยาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนให้เภสัชกรแสดงบทบาทความรับผิดชอบทางวิชาชีพ เพื่อให้ประชาชนได้รับยาอย่างถูกต้อง มีความรู้ในการใช้ยาและใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักเก็บรักษายาที่ถูกวิธีโดยไม่ทำให้สูญเสียคุณภาพ และทราบถึงวิธีการสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังการใช้ยา สามารถแก้ไขปัญหาขั้นต้นได้ “ยุทธศาสตร์ในการปรับระบบการบริหารจัดการใหม่นี้ นอกจากเภสัชกรจะต้องเข้ามาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในเรื่องยาร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ แล้ว ยังต้องมีบทบาทรับผิดชอบในส่วนการบริหารจัดการ ควบคุมระบบการเบิกจ่าย ดูแลคลังด้วย เพื่อให้มีการประกันคุณภาพยาที่จ่ายให้กับผู้ป่วย และพัฒนาระบบกระจายยาให้มีประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณยาเพียงพอต่อการใช้ ไม่มียาตกค้างมากเกินไปจนยาหมดอายุ เป็นการประหยัดงบประมาณและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร” ภก.วิพิน กล่าว สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คุณบุษบา / คุณศศิมา ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ จำกัด โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 และ 135

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ