กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--กฟผ.
กฟผ. เผยเดือนตุลาคม 2549 อากาศหนาวและน้ำท่วมส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟลดต่ำลง ระบุบริหารจัดการค่าเอฟทีโดยเน้นเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงราคาต่ำ คือ ถ่านหินและพลังน้ำ มั่นใจควบคุมต้นทุนค่าไฟฟ้า ลดค่าเอฟที ได้ตามมติเรกูเลเตอร์ เชื่อส่งผลดีถึงค่าเอฟทีงวดหน้าที่เข้าสู่ฤดูร้อนและจะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
นายวินิจ แตงน้อย รองผู้ว่าการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ และประเมินการบริหารจัดการผลิตและซื้อไฟฟ้า เพื่อเป็นการสนองนโยบายของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (เรกูเลเตอร์) ที่กำหนดให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ต.ค. 2549 — ม.ค. 2550 ลง 7.02 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 78.42 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดก่อน ที่เรียกเก็บ 85.44 สตางค์ต่อหน่วย กฟผ. ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการเรียกเก็บค่า Ft งวดใหม่ พบว่า มีการผลิตและซื้อพลังงานไฟฟ้ารวม 12,037 ล้านหน่วย น้อยกว่าแผนฯ ที่ประมาณการไว้ Z12,198 ล้านหน่วย) 161 ล้านหน่วย ซึ่งมีสาเหตุมาจากอากาศหนาวอุณหภูมิลดต่ำลง และสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางกว่า 46 จังหวัด ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง
รองผู้ว่าการควบคุมระบบ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า ตามแผนการบริหารจัดการผลิตและซื้อไฟฟ้า กฟผ. ได้ดำเนินการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อม สำหรับการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ และสอดคล้องกันระหว่างเชื้อเพลิงกับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทที่มีอยู่ในระบบ โดยเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและลิกไนต์ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำให้มากที่สุด สำหรับเดือนตุลาคม 2549 กฟผ. ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า และลิกไนต์ 2,259 ล้านหน่วย มากกว่าแผน ที่กำหนดไว้ (1,835 ล้านหน่วย) ถึง 424 ล้านหน่วย เนื่องจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จ.ระยอง หน่วยที่ 1 ใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิง มีความพร้อมสามารถจ่ายไฟได้มากกว่าประมาณการ และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี หน่วยที่ 2 มีการทดสอบการจ่ายไฟฟ้ามากกว่าแผนที่ประมาณการไว้ นอกจากนี้ กฟผ. ยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้ถึง 846 ล้านหน่วยมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ (460 ล้านหน่วย) ถึง 386 ล้านหน่วย เนื่องจากมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อนสูงกว่าเกณฑ์ปกติมาก
สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในเดือนตุลาคม ตามแผนประมาณการว่าจะใช้ ก๊าซธรรมชาติ 1,924 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่ใช้จริงเพียง 1,855 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตา คาดว่าจะใช้ 167 ล้านลิตร แต่ในความเป็นจริงใช้เพียง 35 ล้านลิตร และใช้นำมันดีเซลเพียง 0.4 ล้านลิตร จากที่ประมาณการไว้ 2.3 ล้านลิตร
“เมื่อประเมินจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และปริมาณเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าในเดือนตุลาคม พบว่า กฟผ. สามารถนำเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาแพง โดยเฉพาะน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลลดลง ซึ่งมีปริมาณการ ใช้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทำให้ กฟผ. มั่นใจว่าในช่วง 3 เดือนที่เหลือ การผลิตและการใช้เชื้อเพลิงจะเป็นไปตามแผน ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้การบริหารค่าเอฟทีงวดเดือน ต.ค. 2549-ม.ค. 2550 ได้ตามที่คณะกรรมการฯ มีมติให้ลดลง 7.02 สตางค์ นอกจากนี้ยังจะส่งผลดีต่อการบริหารค่าเอฟทีของงวดหน้า (เดือนกุมภาพันธ์—พฤษภาคม 2550) ที่จะมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเพราะย่างเข้าฤดูร้อน อีกด้วย ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับส่วนนี้ จะตกอยู่กับประชาชนผู้ใช้ไฟทั้งหมด” นายวินิจกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กองประชาสัมพันธ์กลุ่มระบบส่ง
โทรศัพท์ 0 2436 2342, 0 2436 8363
โทรสาร 0 2436 2394