การส่งออกสูงหนุนให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกโตร้อยละ 5 — 5.5

ข่าวทั่วไป Thursday May 25, 2006 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ธ.กรุงเทพ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด คาดว่า GDP ของไทยในไตรมาสแรกจะเติบโตสูงถึงประมาณร้อยละ 5 — 5.5 สูงกว่าที่ได้ประมาณการไว้ ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาทางการเมือง และปัจจัยลบหลายประการ เช่น ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง แต่จากการที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวในอัตราสูงขณะที่ปริมาณการนำเข้าหดตัว ส่งผลให้การส่งออกสุทธิปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และกลายเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549
จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆของโลกที่เติบโตในอัตราสูงพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯที่ GDP ขยายตัวถึงร้อยละ 4.8 ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจขยายตัวได้แข็งแกร่งขึ้น และเศรษฐกิจจีนที่เป็นหัวรถจักรใหม่ของเศรษฐกิจโลกก็ขยายตัวถึงร้อยละ 10.2 ในไตรมาสแรกของปี 2549 เป็นผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกขยายตัวถึงร้อยละ 17.3 โดยเป็นการขยายตัวทางด้านปริมาณร้อยละ 14.1
สำหรับในด้านการนำเข้าปรากฎว่าการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนการผลิตที่มีมูลค่าสูงกว่าปกติในปี 2548 น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าชะลอการขยายตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 5.4 ในไตรมาสแรกของปี 2549 โดยเฉพาะด้านปริมาณปรากฎว่าลดลงถึงร้อยละ 3 สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้การส่งออกสุทธิ ซึ่งเท่ากับปริมาณการส่งออกหักด้วยปริมาณการนำเข้า ปรับตัวดีขึ้นมากคือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 143.8
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ในไตรมาสแรกของปี 2548 ที่ปริมาณการนำเข้าขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.7 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวต่ำเพียงร้อยละ 0.4 ส่งผลให้การส่งออกสุทธิหดตัวถึงร้อยละ 46.8 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ฉุดให้ GDP ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.2 ทั้งๆ ที่อุปสงค์ภายในประเทศในต้นปี 2548 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.3 ในขณะที่ในไตรมาสแรกของปีนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคคาดว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 4.5 — 5
การส่งออกสุทธิซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 143.8 นี้ส่งผลทำให้ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2549 ขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 5 — 5.5 ทั้งๆ ที่ในระยะดังกล่าวได้เกิดปัจจัยลบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการส่งออก ได้แก่ การส่งออกที่เติบโตสูงนั้นกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ 4 สาขา ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน และยางพารา โดยบริษัทที่มีบทบาทมากใน 3 สาขาแรกส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศหรือการร่วมทุนกับต่างประเทศ
ในส่วนของอุปสงค์ภายในประเทศในไตรมาสแรกของปีนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มอ่อนกำลังลง โดยพิจารณาจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนซึ่งสะท้อนโดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนก็ชะลอการขยายตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 3.8 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นเครื่องชี้ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศได้อย่างค่อนข้างชัดเจน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงยังคงถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินบาทที่แข็ง ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค จึงเห็นว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่เหลือของปีจะขึ้นอยู่กับการขยายตัวของการส่งออกของไทยซึ่งผูกพันกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกเป็นประเด็นสำคัญที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ