TMC ให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี RFID "ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี" เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday October 10, 2006 11:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ทีเอ็มซี
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี (Licensing) ไมโครชิพฝังและติดกับสัตว์แบบไร้สาย RFID (Radio Frequency Identification) แก่บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย
หลังจากได้รับอนุญาตจาก TMC ให้ใช้สิทธิดังกล่าว บริษัทซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี ได้ผลิตไมโครชิพซึ่งใช้เทคโนโลยี RFID ไปแล้วกว่า 60,000 ชิ้น เพื่อบรรจุในป้ายติดหูอิเล็กทรอนิกส์ (Animal Ear Tag) และทำการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานด้านการเก็บข้อมูล การป้องกันโรค การบริหารงานเลี้ยงดู รวมทั้งระบบการขนส่งสัตว์ พบว่าสามารถช่วยงานเจ้าของกิจการฟาร์มวัวและสุกรในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ศ. ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า “TMC มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีหรืองานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตรให้ถูกนำไปใช้กับธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิต ลดการนำเข้า และสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ การอนุญาตให้ใช้สิทธิในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย”
“TMC มอบหมายให้สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี หรือ TLO ดูแลการถ่ายทอดเทคโนโลยีไมโครชิพฝังและติดกับสัตว์ในเชิงพาณิชย์ จนกระทั่งสามารถตกลงให้สิทธิเทคโนโลยีนี้แก่ธุรกิจเอกชนได้สำเร็จ”
ไมโครชิพฝังและติดกับสัตว์ซึ่งใช้เทคโนโลยี RFID นี้ สามารถนำไปใช้เป็นป้ายติดหูอิเล็กทรอนิกส์ หรือไมโครชิพหลอดแก้วชนิดฉีดฝัง สำหรับวัว สุกร สุนัข แมว หรือแม้กระทั่งปลา เพื่อบันทึกข้อมูลการติดไมโครชิพนี้ช่วยลดปัญหาการหลุดลอกของป้ายธรรมดา ช่วยตรวจสอบข้อมูลของสัตว์ได้สะดวก ด้วยเครื่องอ่านและแสดงผลทันที ทำให้ระบบการเลี้ยงและบริหารฟาร์มมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับเพื่อการส่งออก
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) มีเทคโนโลยีและงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วจำนวนมาก ที่ธุรกิจเอกชนสามารถขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านั้นได้
สนใจเทคโนโลยีไมโครชิพฝังและติดกับสัตว์จากบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีอื่นๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานบริการจัดการสิทธิเทคโนโลยี ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย อำเภคคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทร. 0-2564-7000 หรือ http://www.tmc.nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ