กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฟื้นฟูท่องเที่ยว 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน

ข่าวท่องเที่ยว Thursday September 14, 2006 12:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน นับเป็นแหล่งที่มีปะการังอุดมสมบูรณ์ มีคุณค่าในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล จากผลกระทบของคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้แนวปะการังได้รับความเสียหายมากบ้างน้อยบ้างตามลักษณะสัณฐานของชายฝั่ง ทำให้แหล่งท่องเที่ยวลดน้อยลง ทั้งจุดดำน้ำบางแห่งก็เสื่อมโทรมลง
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ กับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ โดยได้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามัน เพื่อจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล ตรัง และระนอง
นายสมชัย เพียรสถาพร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาการอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า“ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการ 4 โครงการ คือ
1. โครงการปะการังเทียมเพื่อเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ 2. โครงการจัดสร้างเส้นทางท่องเที่ยวใต้ทะเล
3. โครงการจัดสร้างสะพานเดินท่องเที่ยวในป่าชายเลน 4. โครงการบริหารจัดการการดำน้ำ
โครงการปะการังเทียมเพื่อเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ริเริ่มทำแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำแห่งใหม่ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวดำน้ำ และเป็นการลดผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำต่อแนวปะการังธรรมชาติ ให้ได้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในบริเวณที่มีปะการังเทียมวางอยู่นั้นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เมื่อปะการังที่ลงเกาะเหล่านี้มีการพัฒนาจะทำให้มีสัตว์หลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น เกิดความสวยงามไม่แพ้แนวปะการังธรรมชาติ และจะสามารถเพิ่มศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวดำน้ำในบริเวณปะการังเทียมเพิ่มขึ้น ผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมดำน้ำต่อแนวปะการังธรรมชาติก็จะลดลงไปด้วย
นอกจากนี้ โครงการจัดสร้างเส้นทางท่องเที่ยวใต้ทะเล สำหรับการดำน้ำตื้นแบบ Snorkeling เพื่อจำกัดกรอบการท่องเที่ยวดำน้ำตื้น ให้อยู่ในบริเวณที่มีความลึกเหมาะสม แนวปะการังมีความหลากหลาย จะช่วยลดผลกระทบในพื้นที่กว้าง และลดการยืนบนปะการัง การเตะหรือจับปะการัง ฯลฯ ที่จะส่งความเสียหายต่อปะการังธรรมชาติและยังได้ความรู้เพิ่มเติม นอกจากนี้ โครงการจัดสร้างสะพานเดินท่องเที่ยวในป่าชายเลน ( Walk Way ) ยังเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้ได้รับความรู้ และได้สัมผัสถึงความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ รวมถึงนกนานาชนิด และเข้าใจถึงความสำคัญของป่าชายเลนในการป้องกันชายฝั่งพังทลายลงอีกด้วย การดำเนินการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันนี้ ยังมี โครงการบริหารจัดการการดำน้ำ เพื่อให้กิจกรรมการดำน้ำสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย มีศักยภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ”
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ ปะการังเทียม คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในรูปแบบต่างๆ อย่างมีแบบแผน เพื่อดัดแปลง ปรับปรุง เสริมแต่งพื้นที่ท้องทะเลให้เหมาะสมกับสภาพที่สัตว์น้ำชอบอาศัยอยู่ โดยจะใช้วัสดุไฟเบอร์สร้างสรรค์เป็นประติมากรรมที่มีการออกแบบแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยใช้จุดเด่นที่มีชื่อเสียงทางการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดเป็นแนวคิดในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ที่ดำเนินการไปแล้วมีรูปแบบปะการังเทียม ได้แก่ จังหวัดภูเก็ตสร้างที่เกาะราชาใหญ่ เป็นประติมากรรมรูปไขมุกอันดามัน,จังหวัดกระบี่สร้างที่เกาะยูงเป็นรูปสุสานหอย ,จังหวัดสตูลสร้างที่หมู่เกาะอาดัง-อาวีเป็นเรือโจรสลัด ,จังหวัดตรังสร้างที่เกาะแหวนเป็นรูปพะยูนแผลงศร ,จังหวัดระนองสร้างที่เกาะร่มเป็นรูปมวยไทยและพระอภัยมณี และจังหวัดพังงาสร้างที่หมู่เกาะสิมิลันเป็นรูปสิบสองนักษัตร ”
ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า “ การดำเนินการจัดสร้าง เส้นทางศึกษาธรรมชาติ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย สะพานเดินท่องเที่ยวป่าชายเลน (Walk Way) ที่แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ รวมถึงนกนานาชนิดบริเวณป่าชายเลน และ เส้นทางท่องเที่ยวใต้ทะเล กิจกรรมท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากนักดำน้ำจะถูกกำหนดให้ดำน้ำในจุดที่เหมาะสม มีความลึกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง และไม่ทำให้นักดำน้ำไปเตะหรือสัมผัสปะการังธรรมชาติให้เสียหายได้ และยังให้ความปลอดภัยแก่นักดำน้ำที่ยังมีประสบการณ์ค่อนข้างน้อยที่มาดำผิวน้ำ โดยมีการติดตั้งเครื่องหมายแสดงจุดท่องเที่ยว 2 รูปแบบคือ การติดตั้งไว้ใต้น้ำ หรือใช้ทุ่นลอยน้ำขนาดเล็กผูกเชือกไว้กับวัตถุใต้น้ำ พร้อมกับแผ่นข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวที่บรรจุรายละเอียดของแต่ละจุดศึกษาบนเส้นทางท่องเที่ยวใต้น้ำ เพื่อให้นักท่องเที่ยวดำน้ำได้รับความรู้จากการท่องเที่ยวอีกด้วย ”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ