กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ ภายใต้การนำของซิป้า จับมือไอบีเอ็มสร้างเครือข่ายกริดเชื่อม 14 สถาบันการศึกษาพันธมิตรทั่วประเทศ สร้างแนวนโยบายใช้กริดคอมพิวติ้ง สร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและสังคม
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ไทยและการวิจัยและพัฒนาของชาติ ได้จัดให้มีโครงการศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี
กริดแห่งชาติขึ้น ทั้งนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ ได้เดินหน้าสร้างโครงข่ายพื้นฐานกริดของชาติขึ้นเป็นครั้งแรก โครงข่ายพื้นฐานทางด้านระบบคอมพิวเตอร์นี้ สามารถเชื่อมต่อสถาบันการศึกษาพันธมิตรรวม 14 แห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านมนุษย์ และพัฒนาบุคลากรที่มีความชำนาญทางไอที ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจต่าง ๆ นอกจากนี้ โครงข่ายพื้นฐานกริด ยังช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลในการพัฒนาประเทศสำหรับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และองค์กรวิจัยต่างๆ ในอนาคต
ดร. อาวุธ พลอยส่องแสง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ซิป้ามีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศให้สามารถสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ การสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้ง เป็นแนวทางตัวอย่างในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบนมาตรฐานเปิด (Open Standard) นำมาสร้างให้เกิดความร่วมมือกันและนำไปสู่นวัตกรรม ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายและสังคม โดยได้วางรูปแบบเชิงการแข่งขันแนวใหม่ด้วยการบริหารทรัพยากรคอมพิวเตอร์ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความเปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ของชาติ อันจะก่อให้เกิดมิติใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยังได้สร้างกรอบความร่วมมือแบบรอบด้านกับไอบีเอ็ม ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของการสร้างบรรยากาศความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการใช้ไอทีและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างให้เกิดนวัตกรรมในวงกว้าง”
วันนี้ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีกริดแห่งชาติ โดยทั้งสองสถาบัน จะกระตุ้นให้มีกิจกรรมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น กิจกรรมการถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยี การดำเนินงานวิจัย การแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน เป็นต้น การวางโครงข่ายกริด ที่เชื่อมสถาบันการศึกษาทั้ง 14 สถาบันทั่วประเทศนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมความร่วมมือด้วยเช่นกัน
โครงการการสร้างโครงข่ายกริดภายใต้การดูแลของศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีกริดแห่งชาติ มีภารกิจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ทันสมัย อันจะช่วยยกระดับการศึกษาวิจัยพัฒนาในสถาบันการศึกษาและ ส่งเสริมความขีดสามารถของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และภาคพาณิชย์ของประเทศ โดยโครงการนี้ได้จัดสร้างโครงข่าย
กริด ที่ประกอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์คลัสเตอร์เซิฟเวอร์ ซึ่งจะเชื่อมโยงเครือข่ายที่ตั้งอยู่ตามสถาบันการศึกษาพันธมิตรเข้ากับเครื่องแม่ข่ายกริดสมรรถนะสูงถึง 3 เทราฟลอบที่ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สถาบันการศึกษาพันธมิตรที่มีส่วนในการก่อตั้งเครือข่ายกริดนี้ ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “การคาดการณ์ถึงความจำเป็นและความต้องการแฝงในอนาคตต่อทรัพยากรคอมพิวเตอร์และพลังประมวลผลขั้นสูง เพื่องานธุรกิจและงานสาธารณประโยชน์แก่สังคม การขยายขนาดของโครงสร้างพื้นฐานทางไอที ความต้องการลดค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพยากรไอที หรือแม้กระทั่งความจำเป็นในการแข่งขัน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้กริดคอมพิวติ้งได้รับการยอมรับในฐานะเป็นเป็นเทคโนโลยีที่สร้างให้เกิด Virtual Services ไอบีเอ็มมีความมุ่งมั่นในการสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มผู้ใช้ที่เกี่ยวข้อง ให้เล็งเห็นถึงคุณค่าของเทคโนโลยีกริดและมาตรฐานระบบเปิด ที่จะช่วยพัฒนาสังคมและสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ภายใต้กรอบความร่วมมือกับซิป้านี้ ไอบีเอ็มมุ่งมั่นที่จะนำความเชี่ยวชาญเชิงลึกทั้งทางด้านเทคโนโลยีและประสบการณ์ระดับโลกในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกริดเพื่อสาธารณประโยชน์และเพื่อการพาณิชย์ ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีแล้ว ไอบีเอ็มและศูนย์ไทยกริดแห่งชาติยังได้ร่วมกันพัฒนาโครงการสร้างเครือข่ายกริดที่ใช้เครือข่ายคลัสเตอร์ IBM System x ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าโครงการความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็มและซิป้า ที่ใช้เครือข่ายของเซิร์ฟเวอร์ IBM System x Architecture เป็นแพลตฟอร์มหลักเชื่อมโยงสถาบันการศึกษา 14 แห่งเข้าด้วยกันนี้ จะสามารถทำให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมและการสร้างสรรค์ระดับนโยบายใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี”
ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ ผู้อำนวยการ ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการสร้างเครือข่ายกริดเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การคำนวณและการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะจะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และหากโครงการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวสำเร็จลุล่วง ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะทำงานวิจัยพัฒนาที่ท้าทายยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิดการเปิดโลกใหม่ของการศึกษาวิจัยพัฒนาและยังจะทำให้เกิดการประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆได้อีกหลายประการด้วย”
เกี่ยวกับศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ
ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ เกิดขึ้นจากการริเริ่มโครงการศูนย์กลางการพัฒนากริดแห่งชาติ ตามมติของคณะรัฐมนตรี ณ. วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2548 โดยเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศระดับชาติ ดำเนินงานภายใต้การควบคุมของสำนักงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ วิสัยทัศน์ของศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ คือ ต้องการเป็นศูนย์กลางที่มีความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีกริด ที่จะช่วยเสริมการวิจัย การพัฒนา การศึกษา ภาครัฐบาลและะภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ไทยกริดแห่งชาตื สามารถดูได้ที่ www.thaigrid.or.th
เกี่ยวกับไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็ม เป็นบริษัททางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และครองความเป็นผู้นำในการช่วยเหลือธุรกิจต่าง ๆ ให้เกิดนวัตกรรมขึ้นกว่า 80 ปี สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีกริด เชิญเยี่ยมชมเว็นไซต์ที่ www.ibm.com/grid
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
โทร 02-273-4117
อีเมล์ onumav@th.ibm.com