กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์
“โพลีเพล็กซ์” ได้แรงส่งจากตุรกีและอเมริกาหนุนรายได้งวดเดือนกรกฎาคม-กันยายน 49 โตกว่าปีก่อนถึง 56% เชื่อมาร์จิ้นการขายของบริษัทฯ จะสูงขึ้นจากภาวะราคาน้ำมันที่ลดลง เดินหน้าขยายกำลังการผลิตแผ่นฟิล์มชนิดใหม่ในตุรกี ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพ มูลค่าโครงการกว่า 1,800 ล้านบาท
นายมานิตย์ กุปต้า กรรมการและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพาณิชย์ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2549 ซึ่งเป็นไตรมาสที่ 2 ของงบการเงินงวดปี 2549-2550 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 75.39 ล้านบาท คิดเป็นกำไรหุ้นละ 0.09 บาท เพิ่มขึ้น 44.45 ล้านบาท หรือ 143.66% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก (เมษายน-มิถุนายน 2549)
ทางด้านรายได้ของบริษัทและบริษัทย่อยช่วงเดือนกรกฎาคม — กันยายน 2549 ทำได้ 1,192.16 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกที่ทำได้ 1,068.82 ล้านบาท เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 11.54% และถ้าเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจะเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 55.77% หรือ 426.84 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการขาย ของบริษัทย่อยในประเทศตุรกีและอเมริกา
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกำไรสุทธิช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เทียบกับปี 2548 จะเห็นว่าลดลงเนื่องจากราคาขายต่อหน่วยลดลง เนื่องจากภาวะสินค้าล้นตลาด ในขณะที่ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้น จากปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น ส่งผลให้ต้นทุนสาธารณูปโภคได้แก่ ค่าไฟฟ้าและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
“ปัญหาสินค้าที่ล้นตลาดจะค่อยๆ คลี่คลายลงตามวัฏจักรธุรกิจ โดยผู้ประกอบการจะไม่ขยายกำลังการผลิตมากเหมือนในอดีต ในขณะที่ราคาน้ำมันก็ไม่ได้สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะทำให้มาร์จิ้นของบริษัทสูงขึ้น และจะทำให้ผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ดีขึ้น ส่วนโรงงานในตุรกีก็ทำรายได้และกำไรได้แล้ว” นายมานิตย์กล่าว
กรรมการและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพาณิชย์ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549 ได้มีมติอนุมัติการขยายกำลังการผลิต PET ฟิล์มของ ของ Polyplex Europa Polyester Film Sanayi Ve Ticaret Anonim Sirketi (PE) ในประเทศตุรกี โดย PE จะลงทุนเพิ่มสายการผลิตแผ่นฟิล์มขนาดกว้าง 8.7 เมตร ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 24,000 ตันต่อปี มูลค่าการลงทุนในโครงการนี้ประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 1,880 ล้านบาท (โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน37.60 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) ประกอบด้วย เงินลงทุนในโครงการ เช่น ค่าปรับปรุงที่ดินที่ตั้งโรงงาน ค่างานโยธาก่อสร้าง ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ จำนวน 42 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินทุนหมุนเวียน 8 ล้านเหรียญสหรัฐ
“แผ่นฟิล์มจากสายการผลิตใหม่จะมีความหนา 10-50 ไมครอน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มได้หลายประเภท เช่น แผ่นฟิล์มเคลือบอัดรูป การใช้สำหรับงานประทับตราหรือพิมพ์ตราแบบร้อน แผ่นฟิล์มที่ปิดด้วยความร้อน แผ่นฟิล์มพิมพ์ตรานูน และแผ่นฟิล์มใส เป็นต้น”
สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทฯ จากการลงทุนในโครงการนี้ก็คือ จะช่วยประหยัดต้นทุนต่อหน่วยในหลายด้าน ทั้งด้านการผลิต ด้านบุคลากร และด้านอื่นๆ นอกจากนี้ สายการผลิตแผ่นฟิล์มที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเสริมการใช้ประโยชน์จากสายการผลิตเม็ดพลาสติก ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 สายผลิตสามารถพึ่งพิงตนเองได้ในด้านวัตถุดิบ และใช้ต้นทุนต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์สูงสุด
“ตลาดหลักสำหรับสายการผลิตใหม่นี้ ได้แก่ ตลาดเดิมในสหภาพยุโรป ยุโรปตะวันออก รัฐอิสระโซเวียตเดิม ตุรกี ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศนั้น ๆ ที่มีต้นทุนสูงและต้องอาศัยสินค้านำเข้า ซึ่งขณะที่บริษัทฯ มีความได้เปรียบในเรื่องที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับตลาดทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งกับผู้ผลิตในประเทศและผู้ผลิตของสินค้านำเข้าดังกล่าว” นายมานิตย์กล่าว
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
น.ส. สุภาวดี กองทอง (ตั๊ก)
โทร. 0-2643-1191 หรือ 0 9057 4074
แฟ็กซ์ 0-2 643-1192
E-mail : c_mastermind@yahoo.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net