ปภ. รายงานสถานการณ์อุทกภัย ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2549 (เวลา 06.00 น.)

ข่าวทั่วไป Thursday August 24, 2006 08:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ปภ.
1. สถานการณ์อุทกภัย ได้เกิดฝนตกหนักเนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกกำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ได้ตรวจสอบไปยังจังหวัดที่ประสบภัยเมื่อเวลา 06.00 น. ของวันนี้ (23 ส.ค.49) มี 1 จังหวัด ที่มีสถานการณ์อุทกภัย คือ
จังหวัดน่าน มีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 12 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว จำนวน 9 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ ยังคงมีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 3 อำเภอ ดังนี้
1) อำเภอเมืองน่าน ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่เทศบาลเมืองน่านบางพื้นที่ บริเวณชุมชน บ้านท่าลี่ ตำบลกองควาย และตำบลดู่ใต้ ซึ่งติดริมแม่น้ำน่าน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10 ม. ขณะนี้เทศบาลเมืองน่านและกรมชลประทาน ได้นำเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้ง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังแล้ว คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงเย็นของวันนี้ ( 24 ส.ค.49)
2) อำเภอเวียงสา น้ำในแม่น้ำน่านจากอำเภอเมือง ได้ไหลเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอเวียงสา จำนวน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลกลางเวียง (หมู่ที่ 2,3,4,5,7,13,14) ตำบลไหล่น่าน (หมู่ที่ 1,2,8) ตำบลตาลชุม (หมู่ที่ 2-4) และตำบลขึ่ง (หมู่ที่ 1,2,3,7) ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30-0.50 ม. ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่า จะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงเย็นของวันนี้ ( 24 ส.ค.49) ขณะนี้พบศพผู้สูญหายแล้ว ชื่อนายเสาร์ สมอินทร์ อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 76 หมู่ที่ 3 ตำบลขึ่ง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
3) อำเภอนาน้อย น้ำได้ไหลจากอำเภอเวียงสาเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนในพื้นที่ริมลำน้ำน่าน ของตำบลนาน้อย ตำบลทุ่งมงคล ตำบลศรีสะเกษ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10-0.20 ม.
ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอนาน้อย และอำเภอนาหมื่น เป็นพื้นที่สูงและ อยู่ห่างจากแม่น้ำน่าน ดังนั้นพื้นที่ชุมชนของทั้ง 2 อำเภอ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
ระดับน้ำที่จุดวัดน้ำ
- สถานี (N.1) (เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 24 ส.ค.49) หน้าสำนักงานป่าไม้จังหวัด อำเภอเมือง ระดับน้ำสูง 5.11 ม.(ระดับตลิ่ง 7.00 ม.) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.89 ม. ระดับน้ำลดลง
- สถานี (N.13 A) (เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 24 ส.ค.49) อำเภอเวียงสา ระดับน้ำสูง 8.28 ม. (ระดับตลิ่ง 8.00 ม.) สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.28 ม. ระดับน้ำลดลง
2. ปริมาณน้ำฝน ตั้งแต่ 01.00 น วันที่ 23 ส.ค.49 ถึง 01.00 น วันที่ 24 ส.ค.49 วัดได้ ดังนี้
จังหวัดอุบลราชธานี (อ.สว่างวีระวงศ์) 35.9 มม.
จังหวัดระยอง (อ.เมือง) 33.8 มม.
จังหวัดตาก (อ.แม่สอด) 25.0 มม.
กรุงเทพมหานคร (เขตคลองเตย) 25.9 มม.
3. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2549 เวลา 06.00 น.
ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง สำหรับภาคกลางและภาคตะวันออกมีฝนกระจายเนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว
4. สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศ แจ้งเตือนให้ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6,7,8,9, และ 10 รวมทั้งจังหวัดในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัย ให้เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และโคลนถล่ม ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยจัดเจ้าหน้าที่ อยู่เวรเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานกับ อำเภอ กิ่งอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้นในจังหวัดใด ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ฯ ที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดนั้นจัดเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรกลเข้าสนับสนุนทันที
5. ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์คืบหน้าประการใด จักได้ติดตาม และรายงานให้ทราบต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
(กลุ่มงานปฏิบัติการ) โทร. / โทรสาร 0-2241-7450-6 สายด่วน 1784

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ