กฟผ. จับมือกรมอุตุนิยมวิทยาเชื่อมโยงระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป Friday July 21, 2006 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--กฟผ.
กฟผ. จับมือ กรมอุตุนิยมวิทยา เตรียมเชื่อมโยงเครือข่ายการเตือนภัยจากแผ่นดินไหวระบบดิจิตอล เพื่อต่อเข้าระบบเตือนภัยของประเทศ ให้การรายงานผลและการแจ้งเตือนภัยรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ โดยจะสร้างเครือข่ายศูนย์วิทยุติดต่อกับชุมชนที่อาจประสบภัยบริเวณรอบเขื่อนของ กฟผ.
จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับเชิญให้เข้าประชุมหารือร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในด้านการเชื่อมโยงข้อมูลการเตือนภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในภาวะวิกฤตินั้น
นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้หารือกับ กฟผ. ถึงความร่วมมือในการประสานข้อมูลเพื่อการเตือนภัยจากภัยธรรมชาติ โดยเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลการเตือนภัยจากแผ่นดินไหว และเชื่อมโยงระบบแสดงผลด้านความมั่นคงของเขื่อนนี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยกรมอุตุนิยมวิทยามีโครงการจะติดตั้ง และจัดหาเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวที่มีความทันสมัยในระบบดิจิตอลเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เป็นระบบอานาล็อก ซึ่งจะทำให้การเตือนภัยทันต่อเหตุการณ์ และให้ความมั่นใจว่า เมื่อได้ดำเนินการร่วมกับ กฟผ. แล้ว จะทำให้เครือข่ายข้อมูลการสื่อสารมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2549 กรมอุตุนิยมวิทยาได้ทำการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวเพิ่มเติมอีก 25 แห่ง ซึ่งเมื่อรวมกับเครื่องวัดแผ่นดินไหวในปีงบประมาณ 2548 จะมีจำนวนเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวรวมทั้งหมด 40 แห่ง เมื่อนำมาบูรณาการร่วมกับ กฟผ. แล้วจะทำให้เครือข่ายข้อมูลมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นายไพบูลย์ เทพมงคล รองผู้ว่าการโรงไฟฟ้า กฟผ. เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยามีแผนจะปรับปรุงโครงข่ายข้อมูลการตรวจวัดแผ่นดินไหวให้มีความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ มีความทันสมัยและแม่นยำ โดยจะมีการเชื่อมต่อข้อมูลจากเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. ที่ได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดอัตราเร่งของแผ่นดินไหว ที่แสดงผลเป็นค่าแรงกระทำต่อเขื่อน (ค่า G) เป็นระบบดิจิตอลไปแล้ว ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง โดยจะเริ่มจากเขื่อนศรีนครินทร์เป็นแห่งแรก ก่อนที่จะขยายไปสู่เขื่อนอื่นๆ ในความรับผิดชอบของ กฟผ. ต่อไป
สำหรับในส่วนของการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนในชุมชนรอบเขื่อนกรณีเมื่อเกิดเหตุอุบัติภัยธรรมชาตินั้น กฟผ. ได้เตรียมจัดระบบเชื่อมโยงการสื่อสารจากเขื่อนไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ ซึ่งมีระบบเสียงตามสายอยู่แล้ว โดย กฟผ. จะจัดทำเครือข่ายวิทยุสื่อสารให้แก่ชุมชนรอบ กฟผ. ที่อยู่ในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ