เปิดตัวสมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์ ชูนโยบายสนับสนุนภาครัฐ แก้ปัญหาตรงจุด ส่งเสริมดื่มรับผิดชอบ

ข่าวกีฬา Friday October 13, 2006 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
ผู้ประกอบการเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแอลกอฮอล์ ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตและผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้จัดจำหน่าย สมาคมผู้ค้าปลีกแห่งประเทศไทย ผู้ทำโฆษณาและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมแห่งประเทศไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมท่องเที่ยว ผู้ประกอบการสถานบันเทิง สมาคมกีฬา และอื่นๆ ร่วมตั้ง “สมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ” สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมและให้ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืน
นายบุญช่วย ทองเจริญพูลพร เลขาธิการสมาพันธ์เพื่อช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามหลักการธรรมาภิบาลที่ภาครัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคมีส่วนร่วมในการร่วมคิดและตัดสินใจ เพื่อสร้างความโปร่งใสและเพิ่มคุณภาพการตัดสินใจของภาครัฐให้ดีขึ้นและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกๆ ฝ่าย กลุ่มผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแอลกอฮอล์จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “สมาพันธ์เพื่อช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (Federation on Alcohol Control of Thailand)” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนภาครัฐในการลดและป้องกันปัญหาอันเกิดจากแอลกอฮอล์ โดยยึดถือความปรองดองและการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาจากพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมอย่างเต็มที่และได้ผลจริง อีกทั้งเป็นการร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม
“การที่รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์นั้น สมาพันธ์ฯ เห็นด้วยและพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องต่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ฯ เห็นว่า รัฐบาลควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน เพื่อมิให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านงบประมาณ ทรัพยากร และเวลา ตลอดจนส่งผลกระทบในภาพรวม อาทิ ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของชาติ การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว การจัดการปัญหาแรงงานและภาคการผลิต ระบบการจัดเก็บภาษีที่สอดคล้องเหมาะสมเป็นต้น สมาพันธ์ฯ เห็นว่า กฎหมายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีความเหมาะสม ดีอยู่แล้ว แต่ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและดำเนินการอย่างเต็มที่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริงในปัจจุบัน”
“หากทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงแล้ว โดยร่วมกันทำงานภายใต้รูปแบบการจัดระเบียบร่วมกัน (Co-regulatory Scheme) เปิดโอกาสให้องค์กรทางสังคมและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมและให้ข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรม และแก้ปัญหาแบบองค์รวม เชื่อว่า จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและทำให้ปัญหาต่างๆ ลดลงอย่างแน่นอน” นายบุญช่วย กล่าว
ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างจริงจังและและสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริงในปัจจุบัน ดังนี้
1. สมาพันธ์ฯ เสนอให้ภาครัฐเข้าร่วมจัดการและกำกับดูแลสมาพันธ์ฯ ซึ่งสมาพันธ์ได้วางมาตรการและแนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดระเบียบตนเอง โดยขอความร่วมมือให้สมาชิกของสมาพันธ์ฯ ปฏิบัติร่วมกัน โดยสมาพันธ์ฯ จะทำหน้าที่ตรวจสอบดูแลสมาชิก และมีภาครัฐเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายควบคุมอีกทีหนึ่ง ซึ่งหากสมาชิกไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสมาพันธ์ฯ ดังกล่าว สมาชิกจะได้รับการลงโทษอย่างเข้มงวดทั้งจากสมาพันธ์ฯ และภาครัฐ
2. รัฐบาลควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการควบคุมสถานที่และรูปแบบการจำหน่ายสุรา เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถซื้อสุราได้ง่าย เช่น การควบคุมการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุรา โดยให้มีการจำกัดสถานที่ขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสม การลงโทษอย่างเด็ดขาดกับร้านที่ไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ร้านค้าตามท้องถนนทั่วไปหรือแม้แต่หาบเร่แผงลอยที่ขายอาหารและเครื่องดื่ม การห้ามจำหน่ายสุราแก่เด็กอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และการห้ามจำหน่ายและบริโภคสุราในบริเวณสาธารณะที่ไม่เหมาะสม เช่น วัด โบราณสถาน สถานศึกษา สถานที่สำหรับปฏิบัติ พิธีกรรมทางศาสนา โรงพยาบาล
3. รัฐบาลควรร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เหมาะสมอื่นๆ อาทิ ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้จำหน่าย ผู้ค้าปลีก เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ จึงควรจะเข้ามาร่วมแก้ปัญหานี้ด้วย ซึ่งเป็นแนวทางที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีมติเพื่อการแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์อย่างได้ผล ปัญหาการบริโภคเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก สมาพันธ์ฯ จึงเห็นควรที่ภาครัฐน่าจะศึกษาตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จ (Best Practice) ของนานาประเทศในการแก้ไขปัญหาการบริโภคแอลกอฮอล์
4. ในการออกกฎระเบียบใดๆ ภาครัฐควรพิจารณาเชิงมหภาคและศึกษาถึงผลดีผลเสีย อีกทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาการบริโภคแอลกอฮอล์ที่ได้ผลจริง โดยใช้หลักฐานข้อมูลหรือผลวิจัยที่อ้างอิงได้ (Evident proof) เช่น สาเหตุของการดื่มหรือการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ โฆษณามีผลจริงหรือไม่ หากห้ามโฆษณาจะเกิดผลกระทบในวงกว้างอะไรบ้าง อาทิ ปัญหาการจ้างงาน ปัญหาด้านการท่องเที่ยว ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ เป็นต้น
5. รัฐบาลควรเข้มงวดกับการโฆษณาของผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร บริษัทฯ แอลกอฮอล์รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปในแนวทางการให้ความรู้และรณรงค์กับผู้บริโภค และเน้นการควบคุมเนื้อหาในการสื่อสารกับผู้บริโภค เช่น “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” “ดื่มไม่ขับ” “งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดแก่ผู้มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด” และ “ต่อต้านความรุนแรงที่เกิดจากการดื่ม” เป็นต้น ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหามากกว่าการห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ เพราะการควบคุม การโฆษณาโดยสิ้นเชิง ทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตลอดจนกิจกรรมทางการตลาดทุกชนิดนั้นเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน
“จากผลวิจัยพฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์ของผู้ดื่มแอลกอฮอล์โดยการสนทนากับกลุ่มตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า โฆษณาไม่มีผลในการดื่มหรือเลิกดื่ม เพราะการดื่มขึ้นอยู่กับเพื่อนและสังคมมากกว่า ขณะที่ผลวิจัยด้านการศึกษาเรื่องแอลกอฮอล์ของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2,400 คน ของบริษัท มาร์เก็ตไวส์ จำกัด พบว่า ผลกระทบของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการดื่มนั้น ร้อยละ 92 ของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดมองว่าโฆษณาไม่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มของพวกเขา สมาพันธ์ฯ จึงเห็นว่า การศึกษาข้อมูลที่รอบด้านภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสม“ นายบุญช่วย กล่าว
พร้อมกันนี้ สมาพันธ์ฯ ยังได้สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการกำหนดระเบียบปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ (Code of Conduct) ด้วยการทำการตลาดและขายอย่างรับผิดชอบ และสนับสนุนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการดื่มอย่างรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อาทิ ไม่มุ่งกิจกรรมทางการตลาดไปยังผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฏหมายอนุญาตให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ไม่สนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมให้มีปริมาณการดื่มเกินพอดี เป็นต้น และยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระของรัฐบาลและผู้ประกอบการเพื่อกำหนดระเบียบข้อบังคับของการโฆษณาและร่วมกันทำงานเพื่อออกมาตรการลดความเสี่ยงภัยจากแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพ
“สมาพันธ์ฯ พร้อมที่จะให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนวางแผน กำหนดแนวปฏิบัติ และดำเนินการรณรงค์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ในการป้องกันและลดปัญหาจาก พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสม บนพื้นฐานการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มอิสระ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง” นายบุญช่วย กล่าวโดยสรุป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
สมาพันธ์เพื่อช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (FACT)
สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม
โทร :0 2559 0252-4 โทรสาร: 0 2559 0256
อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
วราพร / สาธิดา
โทร 02 252 9871

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ