หนุนผู้ประกอบการใช้พลังงานหมุนเวียน “ชีวมวล” วัตถุดิบมาก ต้นทุนถูก มีเทคโนโลยีรองรับ

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday June 19, 2007 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--JGSEE
ชี้ตลาดพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยพร้อมสำหรับการลงทุน เหตุมีทรัพยากรสมบูรณ์ และมีนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐที่ชัดเจน เผยพลังงานหมุนเวียนที่น่าลงทุนมากที่สุด คือ ชีวมวล เนื่องจากวัตถุดิบมาก ต้นทุนถูก และมีเทคโนโลยีรองรับ และรัฐเองก็มีมาตรการส่งเสริมชีวมวล ทั้งด้านการใช้ทดแทนน้ำมัน และผลิตไฟฟ้า
ปัจจุบันทั่วโลกมีการนำพลังงานหมุนเวียนหลายประเภทมาใช้ไม่ว่าจะเป็นชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมารองรับการใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ เช่น การพัฒนาทุ่งกังหันลม (Wind Farm) ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทุ่งกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการนำกังหันลมขนาดยักษ์ จำนวน 421 ตัว ไปตั้งกระจายกันอยู่ในทุ่งกว้าง ประมาณ 250 ไร่ เพื่อรอรับลมที่จะพัดผ่านมา แล้วแปลงพลังงานเหล่านั้นไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าปริมาณมหาศาล หรือประมาณ 750 เมกกะวัตต์ หากแต่การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภท ต้องคำนึงถึงปัจจัยความเหมาะสมของแต่ละประเทศ คือ ทรัพยากร ต้นทุนการผลิต และเทคโนโลยีรองรับ ซึ่งไม่สามารถลอกเลียนกันได้
รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เปิดเผยในงานประชุมวิชาการนานาชาติ Renewable Energy Asia 2007 เมื่อเร็วๆนี้ว่า ปัจจุบันการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยเริ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จึงทำให้มีการขยายตัวของตลาดการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ทั้งผู้ลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรที่จะนำไปผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท อาทิ พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ และ พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ รวมไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงทำให้ตลาดพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยมีศักยภาพต่อการลงทุน
“รัฐบาลมีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท แต่พลังงานหมุนเวียนที่จะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน และมีการใช้เพิ่มขึ้น คือ พลังงานจากชีวมวล เนื่องจากเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีวัตถุดิบ หลากหลายรูปแบบ เช่น แกลบ ชานอ้อย ซังข้าวโพด ทลายปาล์ม ซึ่งมีราคาถูก อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ง่าย ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากนัก โดยนโยบายของรัฐที่ช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานจากชีวมวลสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ การส่งเสริมให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนการใช้น้ำมันในการขนส่ง และการส่งเสริมให้ใช้ชีวมวลในการผลิตกระแสไฟฟ้า”
ในส่วนของภาคขนส่ง ซึ่งเป็นภาคที่สำคัญ เนื่องจากพลังงานที่ใช้ในภาคนี้คิดเป็น 38% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ รัฐจึงได้ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนการใช้น้ำมัน โดยให้เปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์แทนการใช้น้ำมันเบนซิน95 และใช้ไบโอดีเซล (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล) ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งขณะนี้รัฐพยายามส่งเสริมด้านราคา ให้เชื้อเพลิงชีวภาพมีราคาถูกกว่าน้ำมันปกติ โดยไบโอดีเซลมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลลิตรละ 70 สตางค์ และให้แก๊สโซฮอล์มีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน95 ถึง 3.30 บาท นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้แก๊สโซฮอล์อีกด้วย ในด้านผู้ผลิต รัฐได้มีมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่โรงกลั่นในการซื้อไบโอดีเซลมาผสมกับน้ำมันดีเซล โดยการให้เงินอุดหนุนการซื้อไบโอดีเซลถึงลิตรละกว่า 12 บาท ส่วนภาคการผลิตไฟฟ้า รัฐมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยกำหนดอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) หากมีการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ผู้ผลิตจะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า เช่น ถ้าใช้พลังงานชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า จะได้อัตราส่วนเพิ่ม 30 สตางค์/หน่วย พลังงานน้ำขนาดเล็ก 40-80 สตางค์/หน่วย พลังงานลมและพลังงานจากขยะ 2.5 บาท/หน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์ 8 บาท/หน่วย เป็นต้น
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่ออีกว่า แม้ว่าจะมีผู้สนใจลงทุนในตลาดพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่นักลงทุนยังพบกับความยากลำบากในการใช้พลังงานหมุนเวียนอีกหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของต้นทุนและในบางครั้งเริ่มประสบอุปสรรคในการจัดหาทรัพยากร รวมทั้งยังขาดประสบการณ์ในการใช้ และความไม่พร้อมของเทคโนโลยี ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่สนใจ โดยในขณะนี้มีหน่วยงานที่รับให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการ อาทิ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถหาความรู้ด้านเทคโนโลยี รวมทั้งพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้จากเข้าร่วมในเวทีสัมมนาวิชาการที่จะจัดขึ้นในโอกาสต่างๆ หรืออาจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บัณฑิตวิทยาลัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ก็ได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE)
โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 103,105

แท็ก ผลิตไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ