แนะผู้ประกอบการเครื่องสำอาง ตื่นตัวรับหลักเกณฑ์ GMP สร้างมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค

ข่าวทั่วไป Tuesday June 19, 2007 10:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย
แนะผู้ประกอบการเครื่องสำอางตื่นตัวรับหลักเกณฑ์ GMP ที่คาดว่าจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2551 ชี้อุตฯเครื่องสำอางต้องเตรียมความพร้อม เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ หรือความรู้ของผู้ปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการของตลาด สร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
เครื่องสำอาง ตามความหมายจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะกับผิวกายภายนอกเท่านั้น เช่น ผิวหนัง ริมฝีปากและในช่องปาก เส้นผม เล็บ หรือใช้เพื่อความสะอาดในชีวิตประจำวัน เช่น ขจัดคราบเหงื่อไคล สิ่งสกปรกที่ผิวกาย เส้นผม รวมทั้งใช้เพื่อระงับกลิ่นกาย แต่งกลิ่นหอมใช้เพื่อปกป้องหรือส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี ปรับแต่งให้แลดูดี โดยที่ไม่สามารถไปมีผลต่อโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ใดๆของร่างกายมนุษย์ จากนิยามดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยของเครื่องสำอางเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการมนุษย์ทุกคน ย่อมต้องเคยใช้หรือสัมผัสเครื่องสำอางโดยตรงกับร่างกาย
สำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.)จึงคาดว่าจะออกกฎหมายบังคับใช้ในเรื่อง “หลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง” (Good Manufacturing Practice: GMP) ในปี 2551 ซึ่งหากกฎหมายนี้เกิดขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจำเป็นต้องปรับตัว พัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค พร้อมรับกับการแข่งขันที่จะมีเพิ่มขึ้นตามมา
รศ.ภารุณี ถนอมเกียรติ ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแนะนำวิธีการที่ดีในการผลิต(Good Manufacturing Practice; GMP)เครื่องสำอาง ในงานสัมมนาเรื่อง การควบคุมและการตรวจสอบทางจุลชีววิทยา สำหรับอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งจัดโดย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ว่า ข้อกำหนดทางจุลชีววิทยาตามGMPในการผลิตเครื่องสำอางที่ดีนั้นมีหลายประการ อาทิ ข้อกำหนดทางจุลชีววิทยา จากคู่มือการตรวจประเมินสถานที่ผลิตตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง ฉบับปรับปรุง เมษายน 2549 กำหนดไว้ว่า บุคคลาการในห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยาควรมีพื้นฐานการศึกษาที่เหมาะสมทั้งประสบการณ์และการฝึกอบรมของพนักงาน
ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างระบบอากาศ จำเป็นต้องสามารถควบคุมความสะอาดได้ เช่น ห้องหรือบริเวณสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบ ห้องชั่งวัตถุดิบ ห้องผสม หรือห้องบรรจุ บริเวณเก็บอุปกรณ์การผลิตที่สะอาดแล้ว ก็ต้องมีการควบคุมความสะอาดด้านเชื้อจุลินทรีย์ด้วย รวมทั้งระบบน้ำที่ใช้ในสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง การออกแบบและติดตั้งต้องใช้วัสดุที่เหมาะสมและปลอดภัย เช่น วัสดุที่ใช้ต้องไม่เป็นที่สะสมของเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งสกปรก สิ่งแปลกปลอมในน้ำและทนต่อการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ หรือวัสดุต้องไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำนั้นๆ
กรณีที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มีห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา พื้นที่การออกแบบ และการจัดวางวัสดุในห้องนี้ต้องเหมาะสม โดยเฉพาะพื้น ผนัง เพดาน รวมทั้งวัสดุที่ใช้ต้องทำความสะอาดง่าย และมีพื้นที่สำหรับเปลี่ยน สวมทับเสื้อผ้าก่อนเข้าห้องตรวจสอบและมีระบบป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอก หรือมีระบบการระบายอากาศและความชื้นที่เหมาะสม
ส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่เข้าร่วมสัมมนา รศ.ภารุณี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ชุดในการปฏิบัติงานจำเป็นต้องสะอาด กรณีมีห้องตรวจสอบความปราศจากเชื้อให้ใช้ชุดปฏิบัติงานที่เหมาะสมและผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์ ต้องมีจำนวนเพียงพอและความถูกต้องแม่นยำเหมาะสมกับวิธีทดสอบตำรับเครื่องสำอางที่ผลิต มีบันทึกแสดงชื่อ ชนิด ชื่อผู้ผลิต หมายเลขเครื่อง วันเดือนปีที่ซึ้อของ เครื่องมือ ตลอดจนวันเดือนปีที่มีการสอบเทียบ การซ่อมแซมและการปรับปรุงรักษา รวมทั้งสารเคมี อาหารเลี้ยงเชื้อ สารมาตรฐาน มีบันทึกซึ่งแสดงชื่อสาร ผู้ผลิต รุ่นที่ผลิต วันที่รับ วันสิ้นอายุ(ถ้ามี) วันที่เปิดใช้ครั้งแรก ลายมือชื่อผู้รับผิดชอบในการรับและเปิดใช้ครั้งแรก หรือต้องมีใบอนุญาตในการผลิตเชื้อโรคและพิษจากสัตว์
ด้านการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ จำเป็นต้องมีวิธีการเตรียมเป็นลายลักษณ์อักษรและมีบันทึกการเตรียมซึ่งแสดงรายละเอียดต่างๆเช่น ชื่อ ครั้ง วันที่ ปริมาณของอาหารเลี้ยงเชื้อที่ใช้ วันที่ปราศจากเชื้อ รวมทั้งลายมือชื่อผู้รับผิดชอบในการทำให้ปราศจากเชื้อ และการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อต้องมีการตรวจสอบความเหมาะสมของอาหารเลี้ยงเชื้อทุก lot ในโรงงานหรือห้องปฏิบัติการที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานของรัฐหรือมหาวิทยาลัย หรือในห้องปฏิบัติการที่ได้รับรอง ISO/IEC 17025 เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในเบื้องต้น สำหรับผู้ประกอบการและผู้ผลิตเครื่องสำอาง จะได้นำความรู้เกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์และการตรวจวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ทั้งโดยวิธีมาตรฐานและวิธีตรวจอย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้ต่อไป รศ.ภารุณี กล่าวในที่สุด
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ