ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมธ.ค. 49 ลดลงต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Thursday January 25, 2007 16:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ส.อ.ท.
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมธ.ค. 49 ลดลงต่อเนื่อง เหตุจากยอดคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตที่ลดลง ล่าสุดค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ติดต่อกัน 9 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการน่าเป็นห่วง เอกชนวอนรัฐดูแลเสถียรภาพค่าเงิน สนับสนุน SMEs พร้อมทั้งแก้ไขสินค้าถูกจากจีนตีตลาด
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนธันวาคม 2549 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 435 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 85.9 ลดลงจาก 91.0 ในเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งการที่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์อุตสาห-กรรมในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณพบว่า ค่าดัชนี 4 ใน 5 ปัจจัยหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 112.9 108.3 110.9 และ 92.0 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 100.0 100.0 101.2 และ 89.4 ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ ขณะที่ค่าดัชนีโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ มีค่าเพิ่มขึ้นจาก 54.8 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 61.6 ในเดือนธันวาคม สำหรับสาเหตุที่ค่าดัชนีหลักปรับลดลงเนื่องมาจาก ปริมาณการผลิตมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงโดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อในประเทศที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับปัญหาเรื่องสินค้าสำเร็จรูปจากประเทศจีนที่เข้ามาตีตลาดภายในประเทศมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการประกอบการลดลง
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนธันวาคม 2549 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดขายในประเทศ และยอดขายในต่างประเทศ ลดลงจาก 111.9 110.4 และ 105.1 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 97.3 97.9 และ 102.7 ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ ในขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของราคาขาย การจ้างงาน และการใช้กำลังการผลิต ลดลงจาก 94.3 103.6 และ 107.8 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 92.6 97.2 และ 95.8 ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของการลงทุนของกิจการ สินเชื่อในการประกอบการ สภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการแข่งขัน ลดลงจาก 106.6 103.4 94.4 และ 101.8 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 102.1 100.9 90.4 และ 91.6 ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบการของกิจการ ลดลงจาก 71.0 77.3 และ 97.6 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 65.2 72.4 และ 83.2 ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ สำหรับดัชนีที่มีค่าปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และสินค้าคงเหลือ เพิ่มขึ้นจาก 106.1 และ 101.0 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 106.8 และ 106.9 ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ
สำหรับค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤศจิกายนกับเดือนธันวาคม 2549 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 25 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า มีอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมี 14 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ ลดลงจาก 90.0 เป็น 77.0 อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ลดลงจาก 107.8 เป็น 80.0 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ลดลงจาก 111.8 เป็น 88.7 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ลดลงจาก 82.7 เป็น 59.6 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงจาก 97.6 เป็น 85.8 อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ ลดลงจาก 114.9 เป็น 76.7 อุตสาหกรรมรองเท้า ลดลงจาก 119.3 เป็น 85.5 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ลดลงจาก 160.0 เป็น 103.3 อุตสาหกรรม สิ่งทอ ลดลงจาก 74.0 เป็น 45.3 อุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงจาก 78.1 เป็น 63.2 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม ลดลงจาก 114.0 เป็น 98.9 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ลดลงจาก 84.4 เป็น 65.6 อุตสาห-กรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ลดลงจาก 106.6 เป็น 95.8 และอุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม ลดลงจาก 112.0 เป็น 83.3 สำหรับอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมี 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เพิ่มขึ้นจาก 56.0 เป็น 74.0 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นจาก 89.1 เป็น 118.3 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เพิ่มขึ้นจาก 90.9 เป็น 112.0 อุตสาหกรรมเซรามิก เพิ่มขึ้นจาก 89.2 เป็น 106.0 อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เพิ่มขึ้นจาก 65.0 เป็น 76.5 อุตสาหกรรมยา เพิ่มขึ้นจาก 90.0 เป็น 118.0 อุตสาหกรรมก่อสร้าง เพิ่มขึ้นจาก 67.4 เป็น 77.0 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นจาก 86.7 เป็น 105.5 อุตสาหกรรมน้ำตาล เพิ่มขึ้นจาก 98.0 เป็น 110.0 อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจาก 76.0 เป็น 95.0 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นจาก 104.0 เป็น 116.7
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 — 49 คน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 — 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 81.2 95.7 และ 96.8 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 71.6 85.9 และ 94.0 ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีการขยายตัวไม่มาก จึงทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้ประกอบการลดลง
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 93.3 85.1 101.3 และ 91.7 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 85.2 82.3 100.7 และ 68.8 ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 76.1 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 87.4 ในเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2549 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางลบยังคงเป็นปัจจัยที่ต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2549 แต่มีหลายปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ราคาสาธารณูปโภค อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การเมืองในประเทศ และราคาเชื้อเพลิง ในขณะที่ผลกระทบจาก FTA โดยรวม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ส่งผลกระทบ สำหรับแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อปัจจัยที่ส่งผลกระทบดังกล่าว ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมคงต้องระวังปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ ปัจจัยที่ยังไม่คลี่คลาด ได้แก่ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากราคาเชื้อเพลิง ความเสี่ยงจากราคาสาธารณูปโภค และความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐสร้างความชัดเจนในนโยบายรวมทั้งเรื่องสร้างความเชื่อมั่น และสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาท พร้อมทั้งให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการในประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ