กทม.พ้นแผ่นดินไหว ตึกสูงเสี่ยงภัยไม่มีผลกระทบ

ข่าวทั่วไป Wednesday March 30, 2005 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้(29 มี.ค.48) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อคืนวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า
ในส่วนของกรุงเทพมหานครสามารถรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ในอาคารสูงตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไป แต่ไม่เป็นอันตรายหรือได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้อยู่บริเวณศูนย์กลางหรือพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผ่านสายด่วน กทม.1555 และที่ 199 ปรากฏว่าไม่มีการแจ้งเหตุตึกร้าว หรืออาคารถล่มใดๆ อย่างไรก็ตาม ทันทีที่รับทราบเหตุแผ่นดินไหว นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้นายนิยม กรรณสูต
ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อเฝ้าระวังพร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว
หากเกิดเหตุขึ้น อีกทั้งได้มีการสั่งการให้นายธนู ศรีคช ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ออกตรวจสอบอาคารที่มีความเสี่ยงซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในเบื้องต้นได้ทำการตรวจสอบไปแล้วจำนวน 7 อาคาร ซึ่งมีความปลอดภัยทั้งหมด
โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ 26 ธ.ค.47 ทำให้เจ้าของอาคารสูงและประชาชนเกิดความตื่นตัวและติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวตลอดเวลา พร้อมทั้งเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้ากรณีเกิดแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งในอนาคต
กทม.จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา มาให้คำแนะนำวิธีป้องกันตัว พร้อมวิธีการเคลื่อนย้ายตนเองออกจากที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
สำหรับอาคารสูงในพื้นที่ กทม.ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้นไม่ได้หมายความว่าจะมีความเสี่ยงทุกอาคาร เนื่องจากบางอาคาร มีการออกแบบที่ดีมีมาตรฐาน สามารถรองรับน้ำหนักของอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการตรวจอาคารสูงจะตรวจอย่างละเอียดตั้งแต่ชั้นใต้ดิน ที่จอดรถ รวมถึงแบบแปลนของอาคารจึงทำให้มั่นใจได้ว่าอาคารที่ผ่านการตรวจสอบมีความปลอดภัย
อนึ่ง ความคืบหน้าในส่วนของมาตรการเตรียมความพร้อมและป้องกันภัยพิบัตินั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 68/2548 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ลงวันที่ 7 ม.ค. 48 โดยมี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะกรรมการ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นรองประธาน สำหรับคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 4 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ
กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย นักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย พล.ต.ต.ชาตรี สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง ร.ท.วโรดม สุจริตกุล นายกสมาคมผู้ตรวจและผู้บริหารความปลอดภัยอาคาร และผู้ประสานงานสถาบันป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NFPA) ประเทศไทย เป็นต้น และมีผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นกรรมการและเลขานุการ
สำหรับคณะอนุกรรมการ 6 ชุด ประกอบด้วย ได้แก่ อนุกรรมการเตรียมมาตรการป้องกันและเตือนภัย ร.ท.วโรดม สุจริตกุล เป็นประธาน อนุกรรมการสนับสนุนด้านเทคนิคการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชภัย เป็นประธาน อนุกรรมการบัญชาการเหตุการณ์และการบริหารการกู้ภัย พล.ต.ต.ชาตรี สุทัศน์ ณ อยุธยา เป็นประธาน อนุกรรมการด้านการติดต่อสื่อสาร
นายวัฒนา ล้วนรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน อนุกรรมการบริหารทรัพยากรกู้ภัย ผู้อำนวยการสำนักการโยธา เป็นประธาน อนุกรรมการความต่อเนื่องการธำรงรักษาระบบกู้ภัยของกทม. ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธาน
ทั้งนี้ภายหลังจากคณะอนุกรรมการแต่ละชุดได้ประชุมหารือ พร้อมนำเสนอและจัดทำแผนป้องกันและเผชิญภัยพิบัติกทม.แล้วเสร็จในเดือน มี.ค.48 กทม.จะจัดตั้งสำนักงานศูนย์อุบัติภัยกรุงเทพมหานครภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยง ประสานงาน สั่งการในการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรุงเทพมหานครต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ